วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2551

ทำ/ไม่ทำ ที่นำชีวิตเจริญ

เพื่อนผมคนหนึ่งได้ส่งบทความนี้ให้ผม (ขอสงวนนาม) เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงนำมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เผื่อใครจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ก ที่ควรทำ ได้แก่ กอด พ่อแม่ ลูก สามี หรือภริยา วันละครั้ง เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใย กอดเพื่อน เพื่อแสดงความเห็นใจ หรือให้กำลังใจ และก่อนนอน อย่าลืม กราบ พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เพื่อขอบคุณ และขอพรสำหรับวันต่อไป
ก ที่ไม่ควรทำ คือ ก้าวร้าว ไม่ว่ากับใคร เพราะจะทำให้เป็นคนน่าเบื่อ ไม่น่าอยู่ใกล้ ไม่มีใครอยากให้ไปไหนด้วย กลัวไปทะเลาะวิวาทกับเขา


ข ที่ควรทำ ได้แก่ ขอบคุณ จงกล่าวทุกครั้ง ที่มีคนทำอะไรให้ และขำขัน คือ ให้เป็นคนมีอารมณ์ดี อารมณ์ขัน
ข ที่ไม่ควรทำ คือ ขุดคุ้ย เอาเรื่องเก่ามาว่าไม่จบสิ้น หรือหาเรื่องมาประจานเขา

ค ที่ควรทำ ได้แก่ ครุ่นคิด และ ใคร่ครวญ คือ คิดก่อนทำอะไรทุกครั้ง เพื่อมิให้ตัวเอง และคนอื่นเสียใจภายหลัง
ค ที่ไม่ควรทำ คือ คลั่งแค้น อย่าเป็นคนโกรธไม่รู้หาย อาฆาตไม่รู้จบ ทำให้คนอยู่ใกล้ไม่มีความสุข

ง ที่ควรทำ ได้แก่ งดงาม ด้วยการทำตัวเรา ให้งดงามทั้งกาย วาจาและใจเสมอ ง้องอน เมื่อเราทำผิด หรือง้อเพื่อทำให้คนที่เรารักรู ้สึกดีขึ้น และรู้จัก เงียบ ไม่โต้เถียงเสียบ้าง เพื่อให้เกิดความสงบสุข
ง ที่ไม่ควรทำ คือ งก อยากได้เกินควร และไม่รู้จักแบ่งปัน

จ ที่ควรทำ ได้แก่ รู้จัก จดจำ วันเกิด วันสำคัญของคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก และทำอะไรเป็นพิเศษให้บ้าง ข้อสำคัญต้อง จริงใจ ไม่เสแสร้งหลอกลวง อันจะทำให้ต้องหวาดระแวงกันตลอดเวลา
จ ที่ไม่ควรทำ คือ จู้จี้จุกจิก พิถีพิถันเกินเหตุ ใครทำอะไรให้ก็ไม่พอใจสักที และไม่เจ้าชู้ ให้เกิดปัญหาในครอบครัว หรือที่ทำงาน

ฉ ที่ควรทำ ได้แก่ ทำตัวให้ ฉลาดเฉลียว รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร รู้กาลเทศะ รู้จักพูด รู้จักทำสิ่งต่างๆ
ฉ ที่ไม่ควรทำ คือ ฉุนเฉียว ให้คนหวาดผวา

ช ที่ควรทำ ได้แก่ ชมเชย ชื่นชม คือ รู้จักกล่าวคำชม หรือแสดงความชื่นชม ในความสำเร็จ หรือเรื่องดีๆ ของผู้อื่นบ้าง
ช ที่ไม่ควรทำ คือ ช่วงชิง คือ อย่าไปแย่งของรัก ของหวงของผู้อื่น หรือ ชุบมือเปิบ ฉวยประโยชน์ของคนอื่น มาเป็นของเราโดยไม่ลงทุนลงแรง

ซ ที่ควรทำ ได้แก่ ซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น
ซ ที่ไม่ควรทำ คือ ซุบซิบนินทา หาเรื่องผู้อื่น หรือ เซ้าซี้ จนน่ารำคาญ และอย่าทำท่า เซ็ง จนคนอื่นไม่สนุกไปด้วย

ฒ ที่ควรทำ ได้แก่ การเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ทรงความรู้ และทำตัวให้น่าเชื่อถือ
ฒ ที่ไม่ควรทำ คือ อย่าทำตัวเป็น เฒ่าทารก ไม่รู้จักโต เฒ่าสารพัดพิษ ที่เจ้าเล่ห์ แสนกล และ เฒ่าหัวงู ที่เป็นอันตรายแก่เด็กสาว และกลายเป็นคนแก่ที่ไม่น่านับถือ

ด ที่ควรทำ ได้แก่ ดี คือ การทำความดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง มีเหตุมีผล
ด ที่ไม่ควรทำ คือ ดุด่า อย่าไปดุด่าว่าใคร หรือใช้อารมณ์จนเกินเหตุ และอย่า โดดร่ม หนีงานบ่อย เพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่น และอย่าเป็น ไดโนเสาร์เต่าล้านปี รุ่นโบราณคร่ำครึ แต่จงเป็นรุ่นจูราสิคปาร์ค ที่คุยกับเด็กๆ สมัยใหม่รู้เรื่อง

ต ที่ควรทำ ได้แก่ ตักเตือน เมื่อเห็นใครทำผิด หรือทำไม่ถูกต้อง ด้วยความหวังดี
ต ที่ไม่ควรทำ คือ ตลบตะแลง ใช้เล่ห์กล หรือโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ

ถ ที่ควรทำ ได้แก่ ไถ่ถาม ห่วงใยทุกข์สุขของเพื่อนฝูง คนรู้จัก และคนที่เรารัก
ถ ที่ไม่ควรทำ คือ ถากถาง อันเป็นการพูดเหน็บ หรือค่อนว่าให้คนอื่นเขาเจ็บใจ

ท ที่ควรทำ ได้แก่ ทะนุถนอม คือ การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
ท ที่ไม่ควรทำ คือ ทิฐิมานะ คือ การโอ้อวดถือดี ถือตัว ไม่ยอมแพ้ จะเอาชนะให้ได้

ธ ที่ควรทำ ได้แก่ ธรรมะ คือ มีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต
ธ ที่ไม่ควรทำ คือ ธุระไม่ใช่ ด้วยการละเลย บอกปัด ไม่สนใจจะช่วยเหลือใครทั้งสิ้น

น ที่ควรทำ ได้แก่ นอบน้อม เคารพคนที่ควรเคารพ มี น้ำใจ ให้กับทุกๆ คน ช่วยเท่าที่ช่วยได้
น ที่ไม่ควรทำ คือ นอกลู่นอกทาง หรือ นอกคอก ด้วยการไม่ประพฤติตนตามที่ควรเป็น

บ ที่ควรทำ ได้แก่ บุญ คือ การประกอบคุณงามความดีทุกรูปแบบ
บ ที่ไม่ควรทำ คือ บัดสีบัดเถลิง อันจะทำให้ตัวเรา และผู้เกี่ยวข้องอับอายขายหน้า เป็นที่รังเกียจ

ป ที่ควรทำ ได้แก่ ปลอบโยน เห็นใครมีทุกข์ ก็ปลอบใจ /ให้คำปรึกษา และเห็นอกเห็นใจเขา
ป ที่ไม่ควรทำ คือ โป้ปดมดเท็จ เป็นการกล่าวโกหก ครั้นต่อไปพูดอะไร คนเขาก็ไม่เชื่อ

ผ ที่ควรทำ ได้แก่ ผัวเดียวเมียเดียว อันจะช่วยลดปัญหาครอบครัว และสังคม ทำให้เด็กๆ อบอุ่น
ผ ที่ไม่ควรทำ คือ ผรุสวาท (ผะรุสะวาด) กล่าวคำหยาบ เป็นที่ระคายเคืองหูต่อผู้ที่ได้ยิน

ฝ ที่ควรทำ ได้แก่ ฝึกฝน คือ ทำอะไรด้วยความเพียร พยายามฝึกให้ชำนาญ
ฝ ที่ไม่ควรทำ คือ ใฝ่ต่ำ ชอบทำอะไรในทางลบ ก่อความเสียหายแก่ตัวเองและครอบครัว

พ ที่ควรทำ ได้แก่ พรหมวิหารสี่ คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อตนและคนรอบข้าง
พ ที่ไม่ควรทำ คือ พนัน เพราะจะทำให้เสียเงิน เสียเวลา และนำไปสู่ความเดือดร้อนเรื่องอื่นๆ

ฟ ที่ควรทำ ได้แก่ ฟังหูไว้หู ไม่เชื่อใครง่ายๆ หรือไม่ฟังคำยุยง ที่จะทำให้เกิดความแตกแยก
ฟ ที่ไม่ควรทำ คือ ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เพราะจะทำให้เสียทรัพย์โดยใช่เหตุ และไม่จำเป็น

ภ ที่ควรทำ ได้แก่ ภาคภูมิ คือ ทำตัวให้สง่า ผึ่งผาย ไม่ซอมซ่อ ทำให้คนที่รักภูมิใจในตัวเรา
ภ ที่ไม่ควรทำ คือ ภาระ กล่าวคือ ทำตัวไม่รู้จักโต ไม่รู้จักคิด เป็นที่หนักใจแก่คนอื่นตลอดเวลา

ม ที่ควรทำ ได้แก่ มัธยัสถ์ คือ รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด และเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่เดือดร้อน
ม ที่ไม่ควรทำ คือ โมหะ นั่นคือทำตัวมืดมน มัวเมาด้วยความหลงผิดต่างๆ นานา

ย ที่ควรทำ ได้แก่ ยกย่อง ให้เกียรติทุกคน ไม่ดูหมิ่น ดูแคลนไม่ว่ากับพ่อแม่ พี่น้องหรือเพื่อนฝูง
ย ที่ไม่ควรทำ คือ เย้ยหยัน /เยาะเย้ย ทำให้เขาเจ็บใจ เสียใจและผูกใจเจ็บ หรือ ยุยง ให้แตกแยก

ร ที่ควรทำ ได้แก่ รัก ตัวเอง และรักผู้อื่นให้เป็น และมี ระเบียบ ในการปฏิบัติตนและการทำงาน
ร ที่ไม่ควรทำ คือ รังควาน ด้วยการรบกวน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รำคาญทั้งกาย และใจ หรือ แรด อันหมายถึง ดัดจริต จนคนเขาระอา และหมั่นไส้ไปทั่ว

ล ที่ควรทำ ได้แก่ ละมุนละม่อม หรือ ละมุนละไม คือ ทำอะไรด้วยความอ่อนโยน นิ่มนวลต่อกัน
ล ที่ไม่ควรทำ คือ ลวนลาม ล่วงเกิน แทะโลมผู้อื่นด้วยวาจา หรือการกระทำ จนเป็นที่ดูถูก

ว ที่ควรทำ ได้แก่ วันทา คือ การไหว้ และแสดงอาการเคารพต่อบุคคล สถานที่ที่ควรเคารพ
ว ที่ไม่ควรทำ คือ วู่วาม ไม่รู้จักเก็บอารมณ์ และทำให้เกิดเรื่องเกิดราวได้ง่าย

ศ ที่ควรทำ ได้แก่ ศักดิ์ศรี คือ ทำตนให้มีเกียรติ และมี ศีล ทำให้เราน่าคบ และน่าเคารพนับถือ
ศ ที่ไม่ควรทำ คือ ศัตรู อย่าก่อศัตรู หรือเป็นศัตรูกับผู้อื่น จะทำให้ชีวิตเราไม่สงบสุข และกลุ้มใจ

ส ที่ควรทำ ได้แก่ สติ คือทำอะไรให้มีสติอยู่ตลอดเวลา และเสียสละ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสบ้าง
ส ที่ไม่ควรทำ คือ ส่อเสียด และ เสแสร้ง เพราะจะทำให้คนโกรธ และไม่อยากคบ เพราะไม่จริงใจ

ห ที่ควรทำ ได้แก่ หอมแก้ม คนที่เรารักบ้างเป็นครั้งคราว อันจะทำให้ชีวิตรักสุข สดชื่น
ห ที่ไม่ควรทำ คือ หงุดหงิด อารมณ์เสียอยู่เสมอ ทำให้คนอยู่ใกล้หมดความสุข

อ ที่ควรทำ ได้แก่ อโหสิ ให้อภัย แก่คนรอบข้าง
อ ที่ไม่ควรทำ คือ เอาใจยาก หรือ เอาใจออกห่าง ล้วนทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น

ฮ ที่ควรทำ ได้แก่ แฮปปี้ ( Happy )คือ ทำตัวให้สบาย มีความสุขตลอดเวลา อย่าเป็นคนเจ้าทุกข์
ฮ ที่ไม่ควรทำ คือ โฮกฮาก ทำเสียงกระแทกเวลาพูด ทำให้เสียบุคลิกภาพ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล :
คุณอมรรัตน์ เทพกำปนาท
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

ปัญหาการบริหารจัดการการดำน้ำในประเทศไทย

ภาพรวมของการดำน้ำลึกในประเทศไทย
ทะเลไทย มีแหล่งดำน้ำที่สวยงามจำนวนมาก อาทิ แหล่งดำน้ำในทะเลอันดามัน แหล่งดำน้ำในอ่าวไทย และแหล่งดำน้ำในชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก น้ำมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการดำน้ำ ไม่เย็นจัดจนเกินไปเพราะอยู่ในเขตร้อน ทรัพยากรใต้ท้องทะเลมีความสวยงาม แนวปะการัง ปลา และสัตว์น้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพ ถึงแม้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านสลับกัน ช่วงละ 6 เดือนของแต่ละปีกลับส่งผลดีในการพักและฟื้นฟูของทรัพยากรในแหล่งดำน้ำ 

ประเทศไทยสามารถเปิดให้บริการการดำน้ำได้ตลอดทั้งปี ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักดำน้ำชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเปิดบริษัทฯ หรือร้านดำน้ำ เพื่อให้บริการการท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทยจำนวนมาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ส่วนนักท่องเที่ยวดำน้ำที่เป็นคนไทยยังถือได้ว่ามีจำนวนน้อย ยังเป็นเพียงกลุ่มขนาดเล็ก เนื่องจากการดำน้ำยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายเหมือนกับการท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ 

รายได้จากการท่องเที่ยวดำน้ำของประเทศไทยในแต่ละปีไม่สามารถระบุตัวเลขได้โดยแน่ชัด เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบในเก็บรวมรวมข้อมูลและสถิติโดยตรง หน่วยงานที่มีอยู่อาจทำได้อย่างผิวเผิน เนื่องจากยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการดำน้ำ ประกอบกับการท่องเที่ยวดำน้ำ มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากรายได้อื่นๆ เป็นองค์ประกอบแฝงอีกจำนวนมาก


ภาพของการดำน้ำในประเทศไทย สมัยก่อนอาจเป็นภาพของการดำน้ำในทางทหาร แต่ในปัจจุบันการดำน้ำในประเทศไทยกลับกลายเป็นธุรกิจที่มีผลประโยชน์มหาศาล โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลเป็นจุดขาย เป็นสินค้าที่ดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการ ธุรกิจการดำน้ำในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
  1. การเปิดสอนหลักสูตรดำน้ำลึก (Divers Course)
  2. การให้บริการการท่องเที่ยวดำน้ำลึก (Diving Trip)
  3. การขาย การให้เช่า และการซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำ (Accessory & Equipment)
  4. การให้บริการอื่นๆ เช่น รับจ้างทำงานใต้น้ำ การถ่ายภาพยนตร์ใต้น้ำ เป็นต้น

การเปิดสอนหลักสูตรดำน้ำลึก
นักท่องเที่ยวที่สามารถจะใช้บริการดำน้ำลึกได้ จะต้องมีบัตรประจำตัวนักดำน้ำสากล ที่ผู้ให้บริการดำน้ำในทุกแห่งทั่วโลกยอมรับ ซึ่งในปัจจุบัน สถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรดำน้ำในโลกนี้ มีหลายสถาบัน สำหรับในประเทศไทยมีสถาบันที่มีชื่อเสียงและเข้ามาให้บริการเปิดการสอนหลักสูตรดำน้ำในประเทศไทยมานาน และค่อนข้างเป็นที่รู้จักจำนวน 2 สถาบัน คือ สถาบัน Professional Association of Diving Instructor (PADI) และ สถาบัน National Association of Underwater Instructor (NAUI) และปัจจุบันทราบข่าวว่ากำลังมีอีกหลายสถาบันพยายามที่จะเข้ามาเปิดการสอนหลักสูตรดำน้ำในประเทศไทยเพิ่มเติม แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก

หลักสูตรดำน้ำ แบ่งออกเป็นหลายระดับ ซึ่งแต่ละระดับ ผู้เรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนแตกต่างกันไป ในระดับการเรียนที่เป็นที่นิยมและเป็นขั้นเริ่มต้น ซึ่งเมื่อผู้เรียนเรียนจบแล้วสามารถได้รับบัตรประจำตัวนักดำน้ำและใช้บริการดำน้ำได้เลย จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 12,000 บาทต่อคน ซึ่งราคาจะแตกต่างกันไปแล้วแต่กลยุทธ์ในการขายของผู้สอนแต่ละคน ใช้เวลาเรียนประมาณ 30 ชั่วโมง หรือประมาณ 3-6 วัน แบ่งออกเป็นการเรียนภาคทฤษฎี ภาคสระว่ายน้ำ (แหล่งน้ำจำกัด) และภาคทะเล(แหล่งน้ำเปิด) เงื่อนไขสำคัญในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรดำน้ำในระดับนี้ คือ ผู้สอนต้องได้รับการแต่งตั้งจากสถาบันเจ้าของหลักสูตร ผู้สอนต้องสอนตามมาตรฐานของหลักสูตรตามที่สถาบันเจ้าของกำหนด ผู้สอนจะต้องซื้อแบบฟอร์มการขอรับบัตรประจำตัวนักดำน้ำให้แก่ผู้เรียน จากสถาบันที่เป็นเจ้าของหลักสูตรในราคาประมาณ 1,000-3,000 บาทต่อคน (แล้วแต่สถาบันเจ้าของหลักสูตรและค่าของเงินบาทในห้วงเวลานั้น) และต้องจัดส่งไปลงทะเบียนและออกบัตร ณ ที่ตั้งของเจ้าของสถาบันนั้นๆ เป็นผู้ออกให้

ผู้สอนที่เปิดการสอนหลักสูตรการดำน้ำในประเทศไทย สามารถแบ่งลักษณะตามสถานะของผู้สอน ออกเป็น ผู้สอนที่อยู่ในรูปบริษัทฯ หรือร้านดำน้ำ (อาจเป็นเจ้าของเอง หุ้นส่วน พนักงาน หรือแค่อยู่ในสังกัด) ผู้สอนที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร หาผู้เรียนเอง ผู้สอนหลักสูตรดำน้ำในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ผู้สอนที่เป็นคนไทยมีจำนวนน้อย เนื่องจากปัจจัยด้านค่าใช้จ่าย เวลา และหนังสือที่เป็นภาษาต่างประเทศ


ในด้านผู้เรียนหลักสูตรดำน้ำในประเทศไทย อาจแบ่งกลุ่มได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้เรียนที่เป็นคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะดี อยู่ในแวดวงสังคมระดับกลางไปถึงสูงมาก การเรียนมักเกิดจากการบอกต่อกันไป อีกกลุ่มเป็นผู้เรียนที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้เรียนดำน้ำในแต่ละปี แยกประเภทการเรียนออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือมาศึกษาในประเทศไทยแล้วถือโอกาสเรียนดำน้ำไปด้วย และอีกประเภทคือตั้งใจเดินทางมาเรียนโดยตรง 

สถานที่ที่มีการเปิดสอนหลักสูตรดำน้ำ ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เกาะช้าง เกาะเต่า เกาะสมุย กระบี่ พังงา และภูเก็ต 

การให้บริการการท่องเที่ยวดำน้ำ (Diving Trip)
การให้บริการการท่องเที่ยวดำน้ำ เป็นธุรกิจที่อยู่ตามเมืองที่มีแหล่งดำน้ำตั้งอยู่ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะเต่า เกาะสมุย พัทยา เกาะช้าง ชุมพร ส่วนในกรุงเทพฯ มักจะเป็นที่ตั้งของบริษัทฯ แม่หรือร้านดำน้ำแม่ มีหน้าที่หาลูกค้า รับลูกค้า และจัดการส่งลูกค้าไปท่องเที่ยวยังแหล่งดำน้ำต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ โดยส่งไปให้บริษัทฯหรือร้านดำน้ำในพื้นที่ ที่เป็นเครือข่ายทางธุรกิจ การให้บริการการท่องเที่ยวดำน้ำ แบ่งลักษณะ การท่องเที่ยวได้ดังนี้
  1. Day Trip การท่องเที่ยวลักษณะนี้ หมายถึง นักท่องเที่ยวมีบัตรประจำตัวนักดำน้ำแล้ว ไปซื้อบริการดำน้ำจากร้านดำน้ำทั่วไป โดยจ่ายเงินตามจำนวนครั้ง (Dive) ที่ดำน้ำ เช่น วันหนึ่งดำน้ำ 2 Dive ค่าบริการ Dive ละ 1,000 บาท รวม 2,000 บาท ฯลฯ การดำน้ำลักษณะนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย มีความสะดวก หรือผู้ที่ชอบพักอยู่บนฝั่ง มีอิสระที่จะเดินทางไปตามเมืองที่มีแหล่งดำน้ำต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์ ไม่ชอบอยู่รวมกลุ่ม
  2. Live aboard การท่องเที่ยวลักษณะนี้ หมายถึง นักท่องเที่ยวมีบัตรประจำตัวนักดำน้ำแล้ว ไปซื้อบริการดำน้ำจากบริษัทฯ ตัวแทน หรือร้านดำน้ำทั่วไป โดยซื้อบริการดำน้ำต่อเนื่องติดต่อกัน 2-4 วัน อยู่อาศัยบนเรือที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การท่องเที่ยวลักษณะนี้ ส่วนใหญ่มักใช้ในการเดินทางไปดำน้ำในแหล่งดำน้ำที่อยู่ห่างไกลออกจากชายฝั่ง เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ การดำน้ำลักษณะนี้จะสะดวกสำหรับนักดำน้ำที่ชอบอยู่รวมกันเป็น กลุ่ม และไม่ต้องการที่จะพักตามโรงแรมหรือรีสอร์ทบนชายฝั่ง การท่องเที่ยวลักษณะนี้ หากคิดในภาพรวมแล้วจะประหยัดกว่าการท่องเที่ยวดำน้ำแบบพักอยู่บนฝั่ง
  3. Diving Resort การท่องเที่ยวลักษณะนี้ หมายถึง นักท่องเที่ยวที่มีบัตรประจำตัวนักดำน้ำแล้ว ซื้อบริการการดำน้ำพร้อมรีสอร์ทที่พัก ตามแหล่งดำน้ำต่างๆ
  4. Take a Trip and Take a Course การท่องเที่ยวลักษณะนี้ หมายถึง นักท่องเที่ยวมีบัตรประจำตัวนักดำน้ำแล้ว ต้องการเรียนต่อหลักสูตรดำน้ำในระดับที่สูงขึ้น จึงซื้อบริการการท่องเที่ยวดำน้ำและถือโอกาสเรียนหลักสูตรดำน้ำควบคู่กันไปด้วย ซึ่งลักษณะนี้นักดำน้ำต้องจ่ายเงินสูงขึ้นกว่าคนอื่นเพื่อเป็นค่าเรียน การท่องเที่ยวลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะใช้บริการในลักษณะ Live aboard
  5. Try out Diving การท่องเที่ยวลักษณะนี้ หมายถึง นักท่องเที่ยวไม่ได้ตั้งใจมาดำน้ำ แต่มาทดลองดูก่อน ซึ่งผู้ให้บริการดำน้ำก็มีโปรแกรมนี้ไว้ให้บริการ โดยสามารถพานักท่องเที่ยวลงดำน้ำได้ในทันที หลังจากนั้นถ้านักท่องเที่ยวสนใจ จึงจะสมัครเข้าเรียนหลักสูตรดำน้ำต่อ การท่องเที่ยวลักษณะนี้จะล่อแหลมต่อการทำลายทรัพยากรใต้ทะเลในแหล่งดำน้ำนั้นๆ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการลอยตัวได้

การขาย การให้เช่า และการซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำ 
อุปกรณ์สำหรับนักดำน้ำ แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
  1. อุปกรณ์พื้นฐาน ได้แก่ หน้ากาก(Mask) ท่อช่วยหายใจ (Snorkel) และ ตีนกบ (Fin)
  2. อุปกรณ์ดำน้ำแบบ SCUBA ได้แก่ เสื้อชูชีพ(BCD) เครื่องช่วยหายใจ (Regulator) ถังอากาศ (Tank) และเข็มขัดน้ำหนัก (Weight Belt)
  3. อุปกรณ์เสริม อาทิ ชุดใส่ดำน้ำ ทุ่นติดตัว ทุ่นลอย เชือก สมอ มีดใต้น้ำ ไฟฉายใต้น้ำ ไฟสัญญาณ Dive Computer เข็มทิศ เครื่องส่งสัญญาณ แผ่นเขียนใต้น้ำ เครื่องอัดอากาศ ชุดเครื่องมือปฐมพยาบาล สื่อการเรียนการสอน สมุดบันทึกการดำน้ำ (Log book) เป็นต้น
  4. อุปกรณ์เพื่อการนันทนาการ อาทิ กล้องถ่ายภาพใต้น้ำ กล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำ สกูตเตอร์ เรือที่ออกแบบเพื่อการดำน้ำ เป็นต้น
อุปกรณ์ดำน้ำที่กล่าวมาทั้งหมดมีให้บริการทั้งการขาย การให้เช่า และการซ่อม ราคาที่ให้บริการแตกต่างกันไปแล้วแต่ยี่ห้อและคุณภาพ บริษัทผู้ผลิตทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ คนไทยเป็นเพียงตัวแทนขายในประเทศ นอกจากจะมีการให้บริการตามบริษัทฯหรือร้านดำน้ำต่างๆ แล้ว จะมีการจัดนิทรรศการรวมเป็นห้วงๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด 


การให้บริการอื่นๆการให้บริการด้านการดำน้ำอื่นๆ เช่น งานติดตั้งอุปกรณ์ใต้น้ำ งานสำรวจเขื่อน งานค้นหาสิ่งของ งานถ่ายโฆษณา งานถ่ายภาพยนตร์ ฯลฯ งานเหล่านี้ ไม่นับเป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการดำน้ำ 

ปัญหาการบริหารจัดการการดำน้ำในประเทศไทย
  1. ปัญหาเรื่องการตรวจสอบรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำที่เป็นชาวต่างชาติ ปัญหานี้นับเป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ การจองและการจ่ายเงินค่าบริการดำน้ำมักจ่ายกันในต่างประเทศ ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต ผ่านทางธนาคารหรือบัตรเครดิตที่อยู่ในต่างประเทศ อยากต่อการตรวจสอบ กระแสเงินสดที่ควรหมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทยจึงยังคงหมุนเวียนอยู่ในประเทศนั้นๆ ไม่ไหลวนเข้ามาในประเทศไทย การตรวจสอบรายได้จากการให้บริการการท่องเที่ยวดำน้ำในลักษณะนี้ จึงอยากต่อการตรวจสอบ ล่อแหลมต่อการรายงานรายได้ในการประกอบการต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดปัญหาการเก็บภาษีของกรมสรรพากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ำกว่าความเป็นจริงไปด้วย
  2. ปัญหาชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพดำน้ำไม่มีใบอนุญาตทำงาน บริษัทฯ หรือร้านดำน้ำในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้ว่าจ้างชาวต่างชาติมาประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำน้ำเพื่อรองรับนักดำน้ำต่างชาติ การประกอบอาชีพมีหลากหลายประเภท อาทิ เป็นผู้สอน ผู้ช่วยผู้สอน เป็นผู้พานักดำน้ำท่องเที่ยว(Dive Leader) ฯลฯ ชาวต่างชาติที่รับจ้างทำงานนี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานสำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การควบคุมและจัดเก็บภาษีรายได้ต่างๆ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ 
  3. ปัญหาการประกอบการธุรกิจดำน้ำของคนไทยไม่เติบโตและมีแนวโน้มว่าจะขาดทุน อาจถึงเลิกกิจการ ทั้งๆ ที่ทะเลและทรัพยากรทั้งหมดเป็นของประเทศไทย เหตุผลเนื่องเพราะคนไทยที่ท่องเที่ยวดำน้ำมีจำนวนน้อยมาก การประกอบการธุรกิจดำน้ำของคนไทยกับคนไทยเองจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหาลูกค้านักดำน้ำที่เป็นชาวต่างชาติ แต่ทางกลับกัน นักดำน้ำที่เป็นชาวต่างชาติ ก็อยากมาดำน้ำกับผู้ให้บริการที่เป็นชาติเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน ซึ่งมีให้เลือกเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศไทยปล่อยให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจดำน้ำในประเทศไทยโดยอิสระ ไม่มีการควบคุม ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำที่เป็นคนไทยซึ่งเกิดการเสียเปรียบในการแข่งขันด้านของภาษา และวัฒนธรรม ลูกค้าดำน้ำลดลง ประสบกับภาวะขาดทุน
  4. ปัญหาเรื่องการเสื่อมโทรมและการถูกทำลายของทรัพยากรในแหล่งดำน้ำ เนื่องจากนักดำน้ำชาวต่างชาติที่เข้ามาดำน้ำในประเทศไทย มีจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นนักอนุรักษ์ และที่ไม่ใช่ ถึงแม้ในการเรียนหลักสูตรดำน้ำจะเน้นให้ทุกคนเป็นนักอนุรักษ์ แต่ในการดำน้ำจริงไม่สามารถควบคุมนักดำน้ำเหล่านั้นได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้น ทรัพยากรใต้ท้องทะเลของไทยตามแหล่งดำน้ำต่างๆ จึงเสื่อมโทรมเร็วกว่าปกติ อีกปัญหาที่เกิดการเสื่อมโทรมและการถูกทำลายของทรัพยากรในแหล่งดำน้ำอย่างรวดเร็วมาก คือ การทำการประมงที่ผิดกฎหมาย การทิ้งสมอเรือ และการทดลองดำน้ำของพวกนักท่องเที่ยวประเภท Try out Diving เพราะนักดำน้ำทดลองประเภทนี้ไม่สามารถควบคุมการลอยตัวได้
  5. ปัญหารายได้จากการดำน้ำที่ควรจะเป็นของคนท้องถิ่นในแหล่งดำน้ำนั้นๆ ในการดำน้ำแต่ละครั้ง นักดำน้ำจะต้องมีไกด์ ในการพานักท่องเที่ยวลงดำน้ำและนำเที่ยวใต้ท้องทะเลในแหล่งดำน้ำนั้นๆ ซึ่งเรียกว่า Dive Leader บางครั้งอาจเรียกว่า Local Diver ซึ่งจะมีรายได้และค่าตอบแทนดี ผู้ที่พานักดำน้ำเที่ยวนี้อาจเปรียบเทียบได้กับมัคคุเทศก์นั่นเอง แม้ใน พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 มาตรา 40 (1) ยังกำหนดไว้ว่า มัคคุเทศก์ที่นำเที่ยวในประเทศไทย ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ Dive Leader ไม่ได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเป็น Dive Leader จะทำหน้าที่คล้ายกับมัคคุเทศก์ แต่คุณสมบัติของ Dive Leader จะแตกต่างจากมัคคุเทศก์ เนื่องจากต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการดำน้ำ การปฐมพยาบาล และการรักษาความปลอดภัยของนักดำน้ำด้วย  ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Dive Leader ตามมาตรฐานที่กำหนดจะต้องเป็นนักดำน้ำในระดับ Dive Master ขึ้นไป ซึ่งกว่าที่นักดำน้ำทั่วไปจะเรียนถึงระดับนี้ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการเรียนจำนวนมาก ดังนั้นคนท้องถิ่นซึ่งเป็นคนที่อยู่อาศัยในแหล่งดำน้ำนั้นๆ จึงไม่สามารถเป็น Dive Leader ได้ อาชีพนี้จึงตกเป็นของชาวต่างชาติ คนท้องถิ่นจึงเป็นได้แค่เพียง คนขับเรือ พนักงานประจำเรือ คนแบกอุปกรณ์ แม่ครัว และลูกจ้างของร้านดำน้ำ
  6. ปัญหาเรื่องคนไทยไม่มีทางเลือกในการเรียนดำน้ำ ในการเรียนหลักสูตรดำน้ำในระดับต่างๆ นั้น การขอบัตรประจำตัวนักดำน้ำจะต้องจัดซื้อแบบฟอร์มจากเจ้าของสถาบันดำน้ำนั้นๆ ในอัตราคนละ 1,000-3,000 บาท(แล้วแต่สถาบันและค่าของเงินบาทในขณะนั้น) และส่งไปออกบัตรประจำตัว ณ สถานที่ที่สถาบันกำหนด ซึ่งไม่ว่าคนไทยหรือชาวต่างชาติ ที่เรียนหลักสูตรดำน้ำในประเทศไทย ต้องเสียเงินลักษณะนี้เช่นกัน ความสำคัญอยู่ที่ว่าคนไทยที่เรียนหลักสูตรดำน้ำ ก็ต้องเสียเงินให้สถาบันดำน้ำของชาวต่างชาติ เหตุเพราะประเทศไทยไม่มีหน่วยงานใดสามารถออกบัตรประจำตัวนักดำน้ำได้เอง ต้องอาศัยสถาบันของชาวต่างชาติ ถึงแม้คนไทยจะใช้ดำน้ำในทะเลไทยก็ตาม ก็ต้องใช้บัตรประจำตัวนักดำน้ำของชาวต่างชาติ ทำให้เกิดปัญหาเงินไหลออกนอกประเทศไทยโดยไม่จำเป็น 

ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา
  1. กำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำที่เป็นชาวต่างชาติ ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารที่เป็นของประเทศไทย เพื่อการตรวจสอบรายได้และป้องกันการหลีกเหลี่ยงภาษี
  2. จัดตั้งองค์กรในการดูแลการดำน้ำที่เป็นนิติบุคคลของประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวก ประสานงาน กำกับดูแล ควบคุมและกำหนดมาตรฐานของผู้ประกอบการธุรกิจการดำน้ำในประเทศไทยทั้งของชาวต่างชาติและของคนไทย และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการประสานงานด้านการดำน้ำกับต่างประเทศ
  3. บังคับให้ผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นของชาวต่างชาติหรือของคนไทย ต้องเป็นสมาชิกขององค์กรด้านการดำน้ำที่จัดตั้งขึ้น เพื่อสะดวกในการควบคุม และกำกับดูแล
  4. พัฒนาหลักสูตรดำน้ำของประเทศไทยขึ้นเอง โดยองค์กรด้านการดำน้ำที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการเรียนดำน้ำโดยสะดวก จัดทำหนังสือเรียนดำน้ำเป็นภาษาไทย และสามารถออกบัตรประจำตัวนักดำน้ำของไทยได้เอง โดยในขั้นต้นอาจจะใช้ได้เฉพาะการดำน้ำในทะเลไทย แล้วค่อยขยายพื้นที่ดำน้ำออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้บันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ ในขั้นการพัฒนาต่อไป บัตรประจำตัวนักดำน้ำของไทย ควรได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
  5. พัฒนาคนพื้นถิ่นให้สามารถประกอบอาชีพเป็น Dive Leader ในการพานักดำน้ำท่องเที่ยวได้ ต่อจากนั้นควรออกกฎหมายสงวนอาชีพ Dive Leader ไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น ห้ามเป็นชาวต่างชาติ เนื่องจากคนไทยจะมีความรักและหวงแหนทรัพยากรของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการทำลายทรัพยากรในแหล่งดำน้ำจากนักท่องเที่ยวดำน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีรายได้จากการประกอบอาชีพอีกด้วย
  6. ควรเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำในแหล่งดำน้ำต่างๆ ของประเทศไทย โดยจัดเก็บในราคาที่เหมาะสมและมีการจัดของที่ระลึกหรือเครื่องหมายของแหล่งดำน้ำนั้นๆ ให้นักท่องเที่ยวนำกลับไปเป็นของที่ระลึก การจัดเก็บอาจมอบหมายให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานเจ้าของแหล่งดำน้ำนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการ เงินค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ ให้นำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนา ฟื้นฟูแหล่งดำน้ำนั้นๆ ได้เองโดยไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐบาล จัดให้มีการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส มีหลักฐานให้กับนักท่องเที่ยว มีการจัดทำบัญชีรับจ่าย ให้สามารถตรวจสอบได้ ตอนนี้ในประเทศไทย มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ในอุทยานแห่งงชาติหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ แต่นอกเหนือจากนั้นยังไม่ทราบว่ามีการจัดเก็บหรือไม่ 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
  1. การบริหารจัดการการดำน้ำของประเทศไทยดำเนินไปอย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพ
  2. ประเทศไทยและคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากธุรกิจการดำน้ำ
  3. ดำรงและอนุรักษ์ทรัพยากรในแหล่งดำน้ำของทะเลไทยให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และยั่งยืน
  4. สร้างงานให้คนในท้องถิ่น
  5. สงวนรักษาเงินตราของประเทศไทยมิให้รั่วไหลออกไปสู่ต่างประเทศโดยไม่จำเป็น

**************
จัดทำโดย
พันเอกสุชาต จันทรวงศ์ และคณะอีก 4 ท่าน (ขอสงวนนาม)

2 เม.ย.2551