วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

จะใช้ e-learning สอนเด็กของเราได้อย่างไร







ในการอบรมทั้ง 5 วัน พวกเราได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ e-learning LMS และมาตรฐาน SCORM ส่วนในการฝึกเชิงปฏิบัติการพวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบทเรียน e-learning ได้แก่
· โปรแกรม Moodle (Modular Objected Dynamic Learning Environment) ซึ่งโปรแกรมหนึ่งในหลายโปรแกรมที่นิยมใช้ในระบบบริหารจัดการเรียนรู้ (LMS: Learning Management System)
· โปรแกรม Adobe Photoshop ซึ่งเป็นโปรแกรมที่นิยมใช้แต่งภาพต่างๆ ให้สวยงาม ก่อนที่จะนำไปใช้
· โปรแกรม Macromedia Flash เป็นโปรแกรมที่สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวได้อย่างสวยงาม หลากหลายสไตส์
· โปรแกรม Adobe Captivate เป็นโปรแกรมนำเสนอได้สุดยอด เหมือนกับมืออาชีพ การใช้งานง่าย สามารถครอบคลุมเกือบทุกสิ่งที่ต้องการโดยเฉพาะเรื่องมัลติมีเดีย

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรม ผมเริ่มพอที่จะใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้บ้าง ถามว่า เก่งหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า คงต้องกลับไปฝึกฝนวิทยายุทธ์ อีกหลายตั้ง กว่าจะสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ มาสร้างสื่อมัลติมีเดีย เพื่อใช้ในการสร้างบทเรียน e-learning ได้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ถ้าผมสร้างได้แล้ว ผมจะจัดการเรียนการสอน แบบ e-learning ให้กับเด็กของผมได้อย่างไร นี่คือคำถามที่ผมกำลังพยายามหาคำตอบอยู่

การจัดการเรียนการสอนแบบ e-learning กับการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นั้น ฟังดูแล้วคล้ายกัน แต่ต้องเข้าใจว่า e-learning อาจจัดแบบออฟไลน์ก็ได้ไม่จำเป็นต้องออนไลน์ เพราะการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ มีข้อควรคำนึงหลายประการ ดังในเอกสาร ประกอบการอบรม กล่าวไว้ว่า การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น
· ความพร้อมของอุปกรณ์และระบบเครือข่ายในโรงเรียน
· ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต
· ความพร้อมของผู้เรียน
· ความพร้อมของครูผู้สอน
· การจัดทำเนื้อหาและบทเรียน

ในทัศนะส่วนตัวของผมแล้ว การจัดการเรียนการสอนแบบ e-learning นี้ น่าจะเหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนในลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. ผู้สอนมีน้อย ผู้เรียนมีมาก หมายถึง ไม่ว่าจะจัดตารางสอนอย่างไร ใน 1 สัปดาห์ ผู้สอนก็ไม่สามารถพบผู้เรียนได้ทุกห้อง ดังนั้น จึงต้องใช้การเรียนแบบ e-learning เข้ามาช่วยสอน ในชั่วโมงที่ไม่สามารถพบนักเรียนได้
2. ขาดผู้สอนในวิชานั้นๆ เช่น ผู้เรียนต้องมีสาขาวิชาที่ต้องเรียนจำนวนมาก แต่ครูผู้สอนมีจำกัด หรือมีความเชี่ยวชาญในเฉพาะสาขาวิชาที่ตนถนัดหรือจบมาโดยตรง ดังนั้น วิชาที่ตนไม่ถนัดหรือไม่เชี่ยวชาญ หรือไม่มีครูผู้สอน จึงต้องใช้ บทเรียนที่เป็นลักษณะ e-learning เข้ามาจัดการเรียนการสอนในวิชานั้นๆ แทน
3. ใช้ในการสอนเสริม เช่น ในการทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติมเพื่อเสริมทักษะ ใช้เป็นเนื้อหา หรือบทเรียนสำหรับอ่านนอกเวลา

หากพวกเราคิดว่า จะจัดการเรียนการสอนแบบ e-Learning ในสถานศึกษา พวกเราก็ควรจัดให้มีศูนย์การเรียน e-learning ของสถานศึกษาด้วย ในสถานศึกษาทั่วไป โดยส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนอยู่แล้ว แต่มักใช้สอนในชั่วโมงคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนตามตารางสอนที่กำหนด หากจะนำมาใช้ในการเรียน e-learning ด้วยแล้วคงจะมีความสับสนอลหม่านพอสมควร ซึ่งหากวางแผนใช้ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้วในการเรียนแบบ e-learning ก็คงต้องใช้นอกเวลาเรียน คำว่า “นอกเวลาเรียน” สำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมนี้ ยิ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะเด็กเหล่านี้ ต้องกลับบ้านตามเวลา เนื่องจากยังเล็กนักไม่เหมือนกับนิสิตนักศึกษา บางคนมีผู้ปกครองมารับหลังเลิกงาน บางคนต้องไป-กลับตามเวลาของรถรับ-ส่ง นักเรียน บางคนถ้ากลับบ้านมืดก็จะเป็นอันตราย


ดังนั้น สถานศึกษาใด จะจัดให้มีการเรียน e-learning คงต้องคำนึงถึงการให้บริการเหล่านี้ ด้วย อย่าคิดว่าผู้เรียนสามารถไปเรียนที่บ้านก็ได้ เพราะมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตอยู่ที่บ้านแล้ว นั่นคือความคิดที่อาจจะผิด เพราะเด็กนักเรียนหลายคน (อาจจะเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทยด้วยซ้ำไป) ที่บ้านยังมีเพียงแค่โทรทัศน์ และวิทยุ AM เก่าๆ เพียงสองเครื่องเท่านั้น

ไม่ว่าเราจะใช้ e-learning ในการจัดการเรียนในลักษณะใด สำคัญอยู่ตรงที่ว่า ใครจะเป็นผู้ผลิตสื่อบทเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียน อย่างเช่น ที่ผมได้เข้าอบรมในครั้งนี้ ได้ไปเรียนรู้โปรแกรมต่างๆ เพื่อใช้ในสร้างบทเรียน e-learning ซึ่งหากเปรียบกับโรงงานก็เหมือนกับผมกำลังไปเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตสินค้า แต่หลังจากผลิตสินค้ามาแล้วไม่รู้จะไปขายให้ใคร ใครจะเป็นผู้ซื้อ และผู้ซื้อมีความพร้อมหรือไม่ เหมือนกับการซื้อเตาอบไมโครเวฟไปไว้ที่บ้าน แต่ที่บ้านยังไม่มีไฟฟ้านั่นเอง


บทเรียน e-learning ก็เหมือนสินค้าตัวหนึ่ง การผลิตบทเรียนที่ดี ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ จำนวนมาก หากเรามุ่งหวังให้ครูที่มาอบรม กลับไปเป็นผู้ผลิตสื่อบทเรียน e-learning เองแล้ว เห็นทีท่าว่าจะลำบาก ผมคิดว่า ครูไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ผลิตสื่อบทเรียน e-learning เอง ครูน่าจะมีหน้าที่ในการสรรหา บทเรียน e-learning ที่เหมาะสมมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนมากกว่า ซึ่งก็เหมือนกับการที่ครูสรรหาหนังสือมาให้ผู้เรียนเรียนนั่นเอง


แต่อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น..ดังนั้น วันนี้ เรากำลังเริ่มต้น เรากำลังเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับ e-Learning เรากำลังจะเดินทางไปสู่โลกไซเบอร์ ซึ่งเรากำลังจะพาเด็กๆ ของพวกเราไปด้วย อย่าลืม โลกไซเบอร์นั้น มีสิ่งยั่วยุอยู่มากมาย พวกเราต้องจูงเด็กๆ ให้ดี ระวังทั้งเด็กและเราจะหลงทางเอง...


พันเอกสุชาต จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา
30 เม.ย.2551
ผมจะจัดการเรียนการสอน แบบ e-learning ให้กับเด็กของผมได้อย่างไร นี่คือคำถามที่ผมกำลังพยายามหาคำตอบอยู่...
เมื่อวันที่ 21-25 เม.ย.2551 ผมได้เข้ารับการอบรมการสร้างบทเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้โปรแกรม Adobe Captivate ซึ่งจัดโดยสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี การอบรมครั้งนี้ มีครูจากโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาต่างๆ เข้ารับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 41 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูที่มาจากจังหวัดใกล้เคียง เสียค่าอบรมเพียงคนละ 500 บาท เลี้ยงทั้งอาหารกลางวันและอาหารว่างเช้าบ่าย ทุกวัน ซึ่งจริงๆ แล้วเงินจากที่เก็บจากพวกเราเพียงแค่นี้ คงไม่เพียงพอสำหรับการอบรมถึง 5 วัน ไหนจะค่าวิทยากร ค่าเอกสาร ค่าแผ่นซีดี ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ฯลฯ แต่เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ คงมีงบประมาณส่วนหนึ่งมาสนับสนุนงานบริการทางวิชาการ นั่นเอง..จึงทำให้พวกเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ผมจึงขอชื่นชมและขอสนับสนุนให้มีการอบรมดีๆ อย่างนี้ตลอดไป...

ไม่มีความคิดเห็น: