หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ

หากกล่าวถึง “การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ” แล้ว คงต้องแปลความหมายของคำว่า อะไรคือ ความมั่นคงของชาติให้ได้เสียก่อน ต่อมาจึงค่อยพิจารณาว่า อะไรบ้างที่เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ แยกแยะให้เห็นเด่นชัด แล้วจึงนำมาจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ เหล่านั้นได้

ความมั่นคงของชาติ หมายถึงอะไร
ในความเห็นของผู้เขียนความมั่นคงของชาติ ก็คือ ความมั่นคงขององคาพยพและสรรพสิ่งทั้งมวลที่ประกอบรวมกันชาติ ซึ่งผู้เขียนได้แยกความมั่นคงของชาติออกเป็น 10 ด้านที่สำคัญ คือ
1. ความมั่นคงทางด้านการเมือง
2. ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ
3. ความมั่นคงทางด้านสังคมจิตวิทยา
4. ความมั่นคงทางด้านการทหาร
5. ความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์
6. ความมั่นคงทางด้านพลังงาน
7. ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
8. ความมั่นคงทางด้านการสื่อสารมวลชน
9. ความมั่นคงทางด้านโทรคมนาคม
10. ความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยี
ความมั่นคงทั้ง 10 ด้าน ล้วนมีความสำคัญทุกด้าน ไม่สามารถบอกได้ว่าด้านใดด้านหนึ่งสำคัญกว่ากัน และในแต่ละด้านล้วนมีความสัมพันธ์ เกี่ยวโยง สอดรับกันเป็นลูกโซ่ หากด้านใดด้านหนึ่งเกิดความไม่มั่นคงก็จะส่งผลกระทบไปยังด้านอื่นๆ ตามไปด้วย

นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติความมั่นคงของชาติทั้ง 10 ด้านที่กล่าวมา ล้วนมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ถูกเขียนไว้ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน หากแต่ไม่ได้กล่าวไว้ถึงด้านความมั่นคงของนโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนั้นอย่างเด่นชัด นโยบายและยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านล้วนมี ทั้งความมั่นคง และความไม่มั่นคง อยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งพอที่จะแยกให้เห็นได้โดยสังเขป ดังนี้


1. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านการเมือง ความมั่นคงทางด้านการเมืองนี้ หมายถึง การมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นสร้างการเมืองการปกครองให้มีเสถียรภาพ มีการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี มีขั้นตอนและกระบวนการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ มุ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นหลัก เป็นที่ยอมรับของนานาอารยะประเทศ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความไม่มั่นคงทางด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ทางด้านการเมือง กลับปรากฏให้เห็นได้ อาทิ
1.1. นโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งต่อผลประโยชน์ของพวกพ้องและกลุ่มทุนของตนเอง มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน
1.2. นโยบายรัฐบาล ที่พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองของตน และลบล้างความผิดที่ผ่านมาของอดีตนักการเมืองสังกัดพรรคของตน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม
1.3. นโยบายรัฐบาลในการเลือกสรรบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ขาดความรู้ความสามารถ บางคนมีประวัติค่อนข้างไม่สู้ดีนัก ไม่เป็นที่ยอมรับของข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ พ่อค้าและประชาชน การบริหารงานในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จึงค่อนข้างขาดประสิทธิภาพ
1.4. นโยบายการเข้าแทรกแซงองค์กรและหน่วยงานสำคัญต่างๆ ด้วยการแต่งตั้งพวกห้องของตนเอง เข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารระดับสูง เพื่อกำหนดนโยบายให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่ม เช่น คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริหารในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นต้น
1.5. นโยบายการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยไม่เป็นธรรม เอาข้าราชการที่เป็นพวกพ้องของตนเองเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทั้งๆ ที่ขาดความเหมาะสมและขาดความรู้ความสามารถ ไม่เป็นที่ยอมรับของบรรดาเหล่าข้าราชการด้วยกัน ข้าราชการที่ดีมีความรู้ความสามารถ เกิดความท้อแท้สูญเสียขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้ภาคราชการปัจจุบันอ่อนแอ
1.6. นโยบายรัฐบาลบางอย่างล่อแหลมต่อการสูญเสียอธิปไตยของดินแดน อย่างเช่น ในกรณีการขึ้นทะเบียนประสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเสียดินแดนถึงประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร และในอนาคต อาจยังต้องมีเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศกัมพูชาอีกด้วย หากดำเนินนโยบายไม่ดีอาจจะเสียเปรียบต่อประเทศกัมพูชาได้
1.7. นโยบายรัฐบาลที่พยายามปกป้องอดีตนักการเมืองที่กระทำความผิด มีการเลือกปฏิบัติ เกิดบรรทัดฐานที่ผิดเพี้ยนของสังคม ท้าทายอำนาจตุลาการ
1.8. นโยบายของรัฐบาลที่ไม่ยอมดำเนินการแก้ไขปัญหาการดูหมิ่นและจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกัน ระหว่างฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายของตนเอง

2.นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ นโยบายและยุทธศาสตร์ทางด้านนี้ กล่าวโดยง่ายก็คือ มุ่งที่จะรักษาความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายของประเทศ ควบคู่กับ รายได้และรายจ่ายของประชาชน แต่ปัจจุบันกลับปรากฏว่า รายได้และรายจ่ายทั้งสองด้าน มีแนวโน้มจะขาดความสมดุล ประชาชนมีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายกลับสูงขึ้นและมีอัตราการเป็นหนี้สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นต้นเหตุให้สรรพสิ่งทั้งมวลที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ความไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจนี้ อาจปรากฏให้เห็นได้ในปัจจุบัน อาทิ
2.1. การปล่อยให้กองทุนเงินขนาดใหญ่ข้ามชาติเข้ามาลงทุนกิจการต่างๆ ในประเทศไทย เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การลงทุนกิจการห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ทำลายอาชีพโชห่วยของคนไทยโดยสิ้นเชิง เปลี่ยนวิถีชีวิตการจับจ่ายใช้สอยของคนไทย การปล่อยให้ธนาคารและสถาบันการเงินของชาวต่างชาติมาตั้งและดำเนินกิจการในประเทศไทย ปล่อยให้คนไทยเป็นหนี้ธนาคารและสถาบันการเงินของชาวต่างชาติโดยไม่มีการควบคุม
2.2. การเชิญชวนนักลงทุนชาวต่างชาติ เข้ามาลงทุนประกอบกิจการในประเทศไทย โดยให้อภิสิทธิ์ต่างๆ ทางด้านภาษี และด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลกลับไม่มีนโยบายอย่างจริงจังที่จะส่งเสริม สนับสนุน สร้างและพัฒนาให้ผู้ประกอบการคนไทยสามารถผลิตสินค้าได้เอง คนไทยเป็นได้แค่เพียงลูกจ้าง รัฐบาลได้ภาษีเพียงบางส่วน แต่กำไรที่แท้จริงยังตกอยู่ในมือนักลงทุนชาวต่างชาติ
2.3. การปล่อยให้ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ขึ้นราคาเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน โดยไม่คำนึงถึงประชาชน
2.4. นโยบายและยุทธศาสตร์ภาคการเกษตร ขาดการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่ในทางกลับกันกลับส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติมาลงทุน
2.5. รัฐบาลพยายามสร้างนโยบายประชานิยม บริโภคนิยม และเทคโนโลยีนิยม ทำให้ประชาชนมีหนี้สินมากขึ้น ขาดความพอเพียงในการดำเนินชีวิต เงินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน
2.6. การไม่ระมัดระวังเรื่องการเงิน การคลัง และการใช้งบประมาณที่เกินตัว รัฐบาลปัจจุบันพยายามที่จะอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินมากโดยเร็ว โดยไม่มีความจำเป็นและไม่ผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านสังคมจิตวิทยา นโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนี้ กว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็น นโยบายด้านศาสนา นโยบายด้านสาธารณสุข นโยบายด้านการศึกษา นโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณี นโยบายด้านคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ ในสถานการณ์ในปัจจุบัน ความไม่มั่นคงของชาติทางด้านสังคมจิตวิทยานี้ ปรากฏให้เห็นได้ อาทิ
3.1. นโยบายด้านศาสนา ความไม่มั่นคงในด้านนี้ สังเกตได้จากความล้มเหลวจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาในทุกรัฐบาล เช่น ในกรณีศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนเริ่มห่างจากศาสนาพุทธ บ้าน วัด และโรงเรียน เริ่มแยกออกจากกัน บุตรหลานเริ่มเบื่อพิธีกรรมทางศาสนา ไร้ศรัทธาหลวงพ่อ เปลี่ยนจากเข้าวัดเป็นเข้าห้างสรรพสินค้า หลายคนกำลังเริ่มเสื่อมศรัทธาพระสงฆ์ผู้สืบทอด เป็นต้น
3.2. นโยบายด้านสาธารณสุข นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านนี้ ในทัศนะผู้เขียนภาพรวมค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จ แต่ในบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจหลงลืมไป เช่น นโยบายเรื่องการผลิตบุคลากรทางด้านแพทย์ แพทย์ของรัฐหนีออกไปอยู่ภาคเอกชน แพทย์มีความคาดหวังเรื่องค่าตอบแทนที่สูงมากกว่าความคาดหวังที่จะเป็นแพทย์อุดมการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ แพทย์ปัจจุบันไม่ใช่ผู้ที่เสียสละอีกต่อไป คนมีเงินมากเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงวิธีการรักษาที่มีคุณภาพได้ ส่วนด้านนโยบายเรื่องการผลิตยา ซึ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดจาก บริษัทฯ ผู้ผลิตยาในต่างประเทศที่พยายามหาวิธีการควบคุมการผลิตและกำหนดราคายา โดยใช้ข้องตกลง สิทธิบัตรต่างๆ ระหว่างประเทศ ส่งผลให้คนไทยต้องใช้ยาที่แพงขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้งที่คนไทยมีความสามารถในการผลิตได้เอง เช่นกัน
3.3. นโยบายทางด้านการศึกษา เป้าหมายการจัดการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดออกมาชัดเจนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ปี 2547 คือ คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข หน่วยงานการศึกษาทุกระดับได้ทำการปฏิรูปการศึกษา จัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว หลังจากจัดการศึกษามาถึงขณะนี้ เกือบ 4 ปี หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มที่จะหันหน้ามาตั้งหลักและทบทวนถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียน ว่าการวิธีการจัดการศึกษาดังกล่าวประสบผลสำเร็จหรือไม่ แต่จากการผู้เขียนที่ได้พูดคุย และฟังบรรยาย จากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ล้วนกล่าวไปทำนองเดียวกันว่า นโยบายการจัดศึกษาของเรา ณ ปัจจุบันเกิดความผิดพลาดและล้มเหลว โดยสังเกตได้จากพฤติกรรมของเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษาของประเทศ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน หากประชาชนไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอแล้ว อาจจะล่อแหลมต่อการสูญเสียความมั่นคงเกือบทุกด้าน เพราะคนในชาติ มีปัญญาไม่เพียงพอในการแข่งขันในโลกยุคปัจจุบัน
3.4. นโยบายทางด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ได้พยายามกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ดำเนินโครงการต่างๆ จำนวนมาก เพื่อให้คนไทยหันมาอนุรักษ์และชื่นชอบด้านศิลปวัฒนธรรม และประเพณีไทย แต่ผลกลับปรากฏว่าการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ สังเกตได้จากตัวชี้วัดสำคัญ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ยังคงมีพฤติกรรมที่ถูกครอบงำจากวัฒนธรรมและประเพณีของต่างชาติ ตั้งแต่ ทรงผม การแต่งตัว รสนิยม การพูดจา บุคลิกภาพ การบริโภคนิยม และเทคโนโลยีนิยม ซึ่งมีให้เห็นอย่างชัดเจนโดยทั่วไป
3.5. นโยบายด้านการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม นโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนี้ ค่อนข้างยากที่จะมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม การนำยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติไม่สามารถหาตัวชี้วัดได้อย่างแน่ชัด ข่าวสารต่างๆ ที่เราได้อ่าน ได้เห็น ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นไปทางเสื่อมถอยทางคุณธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัด คือ พฤติกรรมของบรรดานักการเมืองและข้าราชการหลายคนที่แสดงให้เห็น

4. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านการทหาร นโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนี้ ไม่ได้ถูกพัฒนามานานนับศตวรรษ เพราะภัยคุกคามปัจจุบันที่มีต่อประเทศไทย เป็นภัยคุกคามที่มองไม่เห็นอย่างสมัยก่อน ที่มีการรบกันด้วยกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และการแย่งยึดพื้นที่ เห็นเลือดและความตายกันอย่างชัดเจน เพราะเหตุนี้ รัฐบาลจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญมากนักที่จะจัดสรรงบประมาณให้ งบประมาณทางด้านการทหารในแต่ละปีที่ได้รับเป็นเพียงแค่การดำรงชีพ ส่วนงบประมาณด้านการพัฒนากำลังคน อาวุธยุทโธปกรณ์ มีจำนวนน้อยมาก ตอนนี้กองทัพมีหน้าที่เพียงรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์เก่า ให้สามารถใช้งานได้ แม้ว่าบางอาวุธยุทโธปกรณ์บางชนิดจะหมดอายุการใช้งานไปนานแล้วก็ตาม การไม่ได้จัดซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัยเพิ่มเติม เพื่อเป็นอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งที่ค่อนข้างล่อแหลมต่อการรักษาอธิปไตยของประเทศชาติ นอกจากนั้น นักการเมืองก็พยายามแทรกแซงการบริหารงานบุคคลภายในกองทัพ โยกย้ายแม่ทัพนายกองต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม เอาพวกพ้องของตนเองขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีภายในหมู่ทหารด้วยกันเอง สถาบันทหารอ่อนแอลง นักการเมืองยังมีความพยายามที่จะใช้กองทัพเป็นฐานเสียงทางการเมืองอย่างเห็นเด่นชัด

5. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์ นโยบายด้านนี้ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ยังมองภาพไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนของการจัดการศึกษา หรือว่าจะอยู่ในส่วนของการนำวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ยังมองไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก การส่งเสริมวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างหลวมๆ มีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง นโยบายและยุทธศาสตร์การนำวิทยาศาสตร์มาส่งเสริมและสนับสนุน ด้านเศรษฐกิจสังคม ยังไม่เกิดขึ้น

6. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ประเทศไทยยังจำต้องอาศัยพลังงานจากภายนอกประเทศมาใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าพลังงานที่มีในประเทศยังคงมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ แถมพลังงานในประเทศของเราก็ยังมีการจัดสัมปทานให้แก่บริษัทฯ ต่างชาติเข้ามาดำเนินการเอากำไรอีกต่อ เพราะประเทศไทยขาดเทคโนโลยีที่จะใช้ในการผลิต นโยบายด้านพลังงานโดยเฉพาะ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่ผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด คือ การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทฯ มหาชน และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาถือหุ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในเวลานี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของ ปตท. ที่ต้องการจะคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้น ในด้านพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทฯ เอกชนเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในอนาคตประชาชนคนไทย มีแนวโน้มที่จะใช้ไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้น เพราะบริษัทฯ เอกชน ต้นน้ำที่ผลิตไฟฟ้าย่อมต้องหวังผลกำไรให้แก่ตัวเอง แล้วกว่าจะผ่านมายังการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จนถึงมือประชาชนซึ่งเป็นปลายน้ำ สรุปแล้ว เงินที่ประชาชนเสีย ก็คือ ทั้งจ่ายเป็นต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้าบวกกับกำไรให้หน่วยงานต่างๆ ระหว่างทาง
ปัจจุบันนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามากุมอำนาจของนักลงทุนชาวต่างชาติ ประกอบกับรัฐบาลไม่ส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์การจัดหาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

7. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะเสื่อมโทรมลงและหมดไป นับเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังประสบ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การบุกรุกที่ราชพัสดุและเขตอุทยานแห่งชาติ การบุกรุกป่าชายเลน หรือแม้แต่การลดลงของพื้นที่แนวปะการังในทะเล ซึ่งสาเหตุทั้งหมดเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายของนายทุนร่วมกับนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ที่ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ ภาคราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงขาดความสนใจดูแล ในด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้ คือ ปัญหาขยะล้นเมือง ในทุกพื้นที่ชุมชนเกือบทั่วประเทศไทย เทศบาล อบต. อบจ. หลายแห่งกำลังหาวิธีจัดการแก้ไขขยะที่มีประสิทธิภาพแต่กลับเป็นไปได้ยาก เพราะขาดความร่วมมือและการเสียสละอย่างจริงจัง ปัญหามลภาวะเป็นพิษจากการปล่อยน้ำเสีย ปล่อยก๊าซพิษต่างๆ จากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ก็กำลังเป็นสิ่งที่โลกให้ความสนใจแก้ไข จากผลที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น

8. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านสื่อสารมวลชน การสื่อสารไปยังประชาชน ด้วยเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ยังถูกจำกัดโดยรัฐบาล การจัดสรรคลื่นความถี่ต่างๆ ให้แก่ประชาชนยังไม่เป็นธรรมและทั่วถึงตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คลื่นความถี่ต่างๆ ยังคงอยู่ในมือของภาครัฐ และผู้ประกอบการบางกลุ่ม รัฐบาลและนายทุนพยายามแทรกแซงสื่อสารมวลชน นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและพรรคพวก มากกว่าที่จะนำเสนอเรื่องจริงให้แก่ประชาชนทราบ ผู้ประกอบการด้านสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่เห็นแก่ผลกำไรของตนเองเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่า รายการต่างๆ ที่นำเสนอทางสื่อตนเองไปสู่ประชาชนนั้น เป็นการมอมเมาประชาชน ทั้งทางความคิดและวัฒนธรรม
9. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านโทรคมนาคม การโทรคมนาคมในปัจจุบัน นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อกันได้ทั่วโลกในทันทีทันใดแบบ Real Time ก่อให้เกิดผลประโยชน์มากมายในทุกด้านทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การขนส่ง การเงิน โดยผ่านสื่อกลางสำคัญคือ คลื่นความถี่ ดาวเทียม และสายเคเบิล ปัจจุบันสัมปทานของสื่อกลางเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่อยู่ในมือของนักลงทุนชาวต่างชาติเกือบทั้งสิ้น การแปรรูปองค์การโทรศัพท์ การแปรรูปไปรษณีย์ไทย และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น
10. นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยขาดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง ต้องอาศัยเทคโนโลยีของต่างชาติเป็นหลักในการดำเนินงานเกือบทุกด้าน รัฐขาดการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร มีน้อย การไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ต้องอาศัยเทคโนโลยีของคนอื่น ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในทุกทุกด้าน

การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ
การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทั้ง 10 ด้านที่กล่าวมา นับเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะทำให้นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้ บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์
กระบวนการคุณภาพซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma) เป็นกระบวนการหนึ่งที่มีเป้าหมายเชิงคุณภาพ โดยมีขั้นตอนมาตรฐานในการกระบวนการหลัก คือ Define Measure Analyze Improve และ Control หรือที่เรียกย่อว่า DMAIC ซึ่งในแต่ละขั้นตอน ได้อธิบายอย่างง่ายๆ พอสรุปได้ดังนี้ (เฮเลอร์ ,2006 : 23)
Define หมายถึง การกำหนดปัญหาที่เราต้องการแก้ไขคืออะไร
Measure หมายถึง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าประเด็นที่เราสนใจเป็นปัญหา
Analyze หมายถึง ข้อมูลที่เรามีบอกไรให้แก่เราบ้าง
Improve หมายถึง มีทางเลือกอะไรบ้างในการจัดการกับสาเหตุรากเหงาของปัญหา
Control หมายถึง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทางแก้ไขปัญหาที่เราเลือกนำมาปฏิบัติ จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
หากได้ศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านต่างๆ ดูแล้วจะพบว่า กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ล้วนมีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านไว้แล้วทั้งสิ้น ทั้งในระดับประเทศ ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด จนถึงระดับท้องถิ่น แต่ปัญหาสำคัญคือ การนำนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง หรือว่าหากนำปฏิบัติแล้ว เกิดปัญหาจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร ซึ่งหากเรานำขั้นตอนกระบวนการคุณภาพซิกซ์ ซิกม่า มาวิเคราะห์เพื่อจัดการให้เกิดคุณภาพ อาจกระทำได้ ดังนี้

การจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง โดยใช้ กระบวนการ
คุณภาพซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma)

การร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่Define - กำหนดปัญหาที่แท้จริง ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านนั้นๆ
Measure - ต้องสามารถวัดระดับของปัญหานั้น ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
Analyze - นำข้อมูลทั้งหมดที่ก่อให้เกิดปัญหามาทำการวิเคราะห์ หาสาเหตุรากเหงาของปัญหานั้น และค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหา
Improve - นำทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดมาจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์
Control - แปลงนโยบายและยุทธศาสตร์ให้ไปสู่การปฏิบัติ ติดตาม ควบคุมและวัดระดับของความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

การร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ใช้แล้ว
Define - กำหนดปัญหาที่แท้จริง ที่ไม่สามารถนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติได้ตามที่เขียนไว้Measure - ต้องสามารถวัดระดับของปัญหานั้น ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
Analyze - นำข้อมูลทั้งหมดที่ก่อให้เกิดปัญหามาทำการวิเคราะห์ หาสาเหตุรากเหงาของปัญหานั้น และค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหา
Improve - นำทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไปปฏิบัติ
Control - ติดตาม ควบคุมและวัดระดับของความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ในการจัดการเชิงคุณภาพกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง โดยใช้ กระบวนการคุณภาพซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma) ในแต่ละขั้นตอนนั้น ยังมีรายละเอียดขั้นตอนย่อยอีกหลายประการ รวมทั้งเครื่องมืออีกหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ในจัดการคุณภาพได้ ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวให้ทราบในโอกาสต่อไป.


อ้างอิง
เฮเลอร์, โรวแลนด์. (2006). การจัดการกระบวนการตามหลัก Six Sigma. (ไพโรจน์ บาลัน. ผู้แปล) .
กรุงเทพฯ : อี.ไอ.สแควร์ พับลิซซิ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น