วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

คำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ ตอน 2

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงดำเนินการออกคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินดังกล่าว รวม 15 ครั้ง ซึ่งได้รับแจ้งยืนยัน สามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้บางส่วน เป็นเงิน 66,762 ล้านบาทเศษ ส่วนเงินและทรัพย์สินที่เหลืออีก 9,923 ล้านบาทเศษ ยังไม่สามารถทราบถึงรายละเอียดสภาพเงิน และสภาพทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ครอบครอง หรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ คตส.ได้ส่งรายงานเอกสารและหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นให้กับผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า คดียังมีข้อไม่สมบูรณ์ และมีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้แทนระหว่างผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรับผิดชอบให้ดำเนินการต่อจาก คตส. ขึ้นพิจารณาแล้วมีข้อยุติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ โดยผู้ร้องมี นายแก้วสรร อติโพธิ นายสัก กอแสงเรือง และบุคคลอื่นเป็นพยานบุคคลจำนวนมาก รวมทั้งพยานเอกสาร ซึ่ง คตส.ได้รวบรวมไว้ อันจะพิสูจน์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวได้ ผู้ร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพิจารณาพิพากษายึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 1,419,490,150 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท เอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังหลักค่าใช้จ่ายแล้วรวม 69,722 ล้านบาทเศษ และเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว เป็นเงิน 6,898 ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 76,621 ล้านบาทเศษพร้อมกับดอกผล ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากการร่ำรวยผิดปกติ และมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และขอให้มีคำสั่งยึด อายัดเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา พร้อมดอกผลไว้ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามมติของ คตส.ด้วย ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 76,621 ล้านบาทเศษ ไม่ใช่เงินของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา และไม่ใช่เงินที่ได้จากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลในครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งประกอบธุรกิจโดยสุจริต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณหรือเงินอื่นใดของรัฐ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะไว้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 32,920,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่1 ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 34,650,000 หุ้น รวม 67,570,000 หุ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2542 บริษัท ชินคอร์ป เปลี่ยนแปลงเพิ่มทุน ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 65,840,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 69,300,000 หุ้น รวม 135,140,000 หุ้น มูลค่า 10,000,608,490,000 บาท ในปี 2542 ผู้ถูกกล่าวหา จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แอมเพิลริช ตามกฎหมายของประเทศบิติชเวอร์จิ้น เพื่อรับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป และวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 32,920,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช ในราคาพาร์ 10 บาท เป็นเงิน 329,200,000 บาท โดยสุจริตและเปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 1 กันยายน 2543 ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 30,920,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นเงิน 309,200,000 บาท โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 2,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงิน 20,000,000 บาท และผู้คัดค้านที่ 1 โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 42,475,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 กับโอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 26,825,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนขายหุ้นบริษัท แอมเพิลริช ทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 บุตรชาย หลังจากนั้นในปี 2549 บริษัท แอมเพิลริช ได้โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 329,200,000 หุ้น ในราคาพาร์ 1 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และ ที่ 3 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ซึ่งได้กระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนมิได้ปกปิดซ่อนเร้นอำพราง ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจการของบริษัท ชินคอร์ป อีก รวมทั้งไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ การโอนขายหุ้นมีเจตนาโอนอย่างแท้จริงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง การกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรค 2 ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 เกินกว่า 2 ปี ก่อนที่ คตส.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และก่อนที่จะแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ คำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ให้เสร็จเด็ดขาดไปก่อน กลับส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลโดยรีบด่วน สรุปในคำร้องนี้กล่าวหาว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำข้ามขั้นตอนของกฎหมาย ขัดแย้งกับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.ฉบับที่ 30 ความเห็นของ คตส.ขัดแย้งกันเอง เนื่องจาก คตส.ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรเก็บภาษีจากผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เท่ากับยอมรับว่า บุคคลทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นบริษัท ชินคอร์ป แต่เมื่อ คตส.ต้องการเงินที่ได้มาจากการขายหุ้นดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน กลับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 คตส.ไม่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนใหม่เพื่อไต่สวนคดีนี้ กลับแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงข้อกล่าวหาในคดีอาญาเรื่องการตรา พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ ทั้งๆ ที่เป็นข้อกล่าวหาคนละเรื่องกัน ทำให้การไต่สวนของ คตส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยรู้อยู่แต่แรกว่า สำนวนการไต่สวนของ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีข้อไม่สมบูรณ์ ทั้งไม่อาจแจกแจงได้ว่า ทรัพย์สินหรือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ส่วนใดเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือได้มาโดยไม่สมควร ภาระการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินเป็นของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 จริงหรือไม่ ตกอยู่กับผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องกรรมสิทธิ์ขัดแย้งกับเอกสารทางราชการ คำร้องของผู้ร้องเคลือบแคลง ไม่ได้บรรยายว่าผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอย่างไร และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นั้นอย่างไร ทั้งไม่บรรยายให้เข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน และพวกพ้องเมื่อใด อย่างไร และประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีความชัดเจนแน่นอนในรูปแบบใด มีจำนวนเท่าใด มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างอย่างไร เพียงใด ประกอบกับผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างให้ชัดเจนว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรี ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างไร ก่อให้เกิดผลในการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของทรัพย์สินหรือมูลค่าหุ้นนั้นอย่างไร เพียงใด เป็นจำนวนเท่าใด โดยในแต่ละมาตรการทำให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้นผิดปกติจำนวนเท่าใด เมื่อใด อย่างไร มีพฤติการร่ำรวยผิดปกติอย่างไร หุ้นบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมด 1,487,74120 หุ้น ที่ขายให้กลุ่มเทมาเส็ก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 เป็นหุ้นจำนวนเดิมที่บุตรและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหามีอยู่ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ในปี 2544 และราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามปกติของราคาตลาด มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละช่วงเวลาตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหา และมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นเงินทั้งสิ้น 15,124 ล้านบาท ไม่ได้ระบุการถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ไว้แต่อย่างใด โดยมูลค่าหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่ครอบครัวชินวัตรและครอบครัวดามาพงศ์ถืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก่อนผู้ถูกกล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 คิดเป็นเงิน 31,837,638,568 บาท หากหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ยังเป็นของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 จริงตามที่ถูกกล่าวหา แสดงว่า ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินอยู่แล้ว เป็นเงิน 46,961,638,568 บาท ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องตามที่ผู้ร้องกล่าวหา รวม 5 กรณี 1. การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 2. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท เอไอเอส 3. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท เอไอเอส 4. การละเว้นอนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ไทยคม 5. การอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ไทยคม มาตรการต่างๆ เป็นการกระทำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มิได้เกิดจากการสั่งการหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่ได้มีการทำให้ราคาหุ้นบริษัท ชินคอร์ป มีมูลค่าสูงขึ้น หรือได้รับประโยชน์ใดๆ ตามที่ผู้ร้องกล่าวหา เงินปันผลจากหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 6,898,722,129 บาท ไม่ได้เป็นของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 แต่เป็นของบุตรและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหา และไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เงินปันผลดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน มติให้ยื่นคำร้องคดีนี้ของผู้ร้อง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 6 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ทั้งประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 ให้งดการบังคับใช้เฉพาะที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาเท่านั้น การกล่าวหาไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาล เป็นการกระทำนอกขอบอำนาจหน้าที่ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ข้อ 5 ที่กำหนดให้ คตส.มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น คำร้องไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ครอบครอง หรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เงินและทรัพย์สินส่วนที่ไม่ได้อายัดไว้ชั่วคราว จำนวน 9,858,676,036 บาท 80 สตางค์ ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนดคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ข้อ 23 คำร้องส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 548,519,312 บาท 27 สตางค์ และเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 2,852,933,931 บาท 76 สตางค์ ที่ คตส.อายัดไว้ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสมีอยู่ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2544 แล้ว การกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัท ชินคอร์ป หากจะเป็นความผิดก็เพียงมีโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 และ มาตรา 122 ที่มีโทษทางอาญา และการพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินได้ เนื้อหาตามคำร้องเป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากการกระทำละเมิด เป็นการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมูลคดีเรื่องละเมิด และเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิ์ของให้เงินฝากในบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 26 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ได้มาโดยสุจริต และมีมาก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมิได้เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ วันที่ 10 เมษายน 2541 ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 และ ที่ 5 ถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ป รวมกัน 74,417,395 หุ้น มูลค่ารวมเป็นเงิน 20,092,696,650 บาท ไม่ใช่หุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ผู้คัดค้านที่ 1 หรือที่ 5 ถือแทน ต่อมาในปี 2542 บริษัท ชินคอร์ป มีการเพิ่มทุน ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเพิ่มทุนเป็น 65,840,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นเพิ่มเป็น 69,300,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้นเพิ่มเป็น 33,634,150 หุ้น รวมหุ้นทั้งสิ้น 168,774,150 หุ้น มูลค่ารวมเป็นเงิน 15,132,290,289 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาในขณะที่ยังไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการที่ผู้ถูกกล่าวหา ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ วันที่ 1 กันยายน 2543 ผู้คัดค้านที่ 1 ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 42,475,000 หุ้น วันที่ 1 กันยายน 2543 ผู้คัดค้านที่ 1 ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 42,475,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคาหุ้นละ 10 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ชำระค่าหุ้น 424,750,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ผู้คัดค้านที่ 1 ยกหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 4,500,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวนั้นแล้ว ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท ชินคอร์ป ของผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 6,809,015 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 5 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 ชำระโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ผู้คัดค้านที่ 1 ไว้ แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ทำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวสูญหายไป ผู้คัดค้านที่ 5 จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเก่าให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และใช้คำนำหน้าว่า คุณหญิง แล้ว และวันที่ 1 กันยายน 2543 ผู้คัดค้านที่ 1 ยังขายหุ้นชินคอร์ป 26,825,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 แล้ว ในราคาหุ้นละ 10 บาท ผู้คัดค้านที่ 5 ชำระค่าหุ้น 268,250,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 5 ไม่ได้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ตามคำร้องแทนผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 เนื่องจาก ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 5 ได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่ามี รวมทรัพย์สินทั้งสิ้น 15,124,000 บาท ไม่มีรายการหุ้นบริษัท ชินคอร์ป รวมอยู่ด้วย โดยมูลค่าหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ของครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา และครอบครัวดามาพงศ์ รวมก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นเงิน 43,366,542,520 บาท ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นตามกลไกของตลาดหลักทรัพย์ และภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไม่ใช่เกิดจากการเอื้อประโยชน์ตามคำร้อง คตส. และผู้ร้องตรวจสอบกล่าวหานอกขอบอำนาจหน้าที่ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เนื่องจากเป็นการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยได้กระทำการเอื้อประโยชน์ต่างๆ เมื่อพ้นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ถูกกล่าวหาพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548 คดีขาดอายุความ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรค 2 และไม่มีอำนาจตรวจสอบคณะรัฐมนตรีชุดที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะอายุสภาสิ้นสุดลง คำร้องของผู้เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้บรรยายถึงพฤติการร่ำรวยผิดปกติ และทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างไร ผู้ร้องไม่ได้แยกทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 มีอยู่ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ มีอยู่จำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่สามารถต่อสู่คดีได้ กระบวนการพิสูจน์ทรัพย์ยังไม่แล้วเสร็จ ว่าทรัพย์สินที่ คตส.มีคำสั่งอายัดไว้ เป็นของผู้พิสูจน์ทรัพย์สินหรือไม่ เป็นการข้ามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ เนื้อหาตามคำร้องของผู้ร้อง เป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากการกระทำละเมิด ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลนี้ไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องนี้ ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ คตส. ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัท ชินคอร์ป 458,550,220 หุ้น ที่ขายให้แก่บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 โดยผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 และขายไปในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ได้รับเงินหลังจากหักค่านายหน้า และภาษี เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 22,523,187,209 บาท 49 สตางค์ โอนเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ 111 2 3100 88 โดยก่อนโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 2 มีเงินฝากอยู่แล้ว 2,151,667 บาท 16 สตางค์ ผู้คัดค้านที่ 2 แบ่งเงินจากการขายหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ 18 กู้ยืมไป 1,100 ล้านบาท ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 15 จำนวน 1,000 ล้านบาท ซื้อที่ดินที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 4 แปลง ในราคา 27,227,200 บาท และชำระค่าที่ปรึกษากฎหมาย และค่าทนายความ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 22 จำนวน 30 ล้านบาท มูลค่าหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือเพิ่มขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลใด ราคาหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่เพิ่มขึ้นจากราคา 21 บาท ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เป็น 49.25 บาท ณ วันที่ 23 มกราคม 2549 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมไม่ได้บรรยายว่า มูลค่าหุ้นบริษัท ชินคอร์ป มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีความผิดปกติของการซื้อขายหุ้นดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างไร หรือมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีความผิดปกติอย่างไร เกิดขึ้นในช่วงเวลาใด และสาเหตุของการขึ้นลงของราคาหุ้นมาจากปัจจัยใด เงินที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน 76,621,603,061 บาท 5 สตางค์ มีเงินของผู้คัดค้านที่ 2 รวมอยู่ด้วย 17,150 ล้านบาทเศษ ขอให้ยกคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 และเพิกถอนการอายัดเงินและที่ดินของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 604,600,000 หุ้น โดยซื้อมาจากผู้คัดค้านที่ 2 และบริษัท แอมเพิลริช โดยชอบ ไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 3 ขายหุ้นดังกล่าวให้กับบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน 29,696,897,728 บาท 78 สตางค์ แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารที่ คตส.อายัด นำไปร่วมลงทุนในบริษัทต่างๆ บริจาคให้ผู้คัดค้านที่ 17 และให้ผู้มีชื่อกู้ยืมบริษัท ชินคอร์ป ประกอบธุรกิจในลักษณะการเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทในเครือ ซึ่งมีผลประกอบการที่ดี ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดี ทำให้หุ้นบริษัท ชินคอร์ป มีราคาเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติหรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดให้เห็นว่า มูลค่าหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ก่อนหรือขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลังจากพ้นจากตำแหน่งแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีความผิดปกติของการซื้อขายหุ้นดังกล่าวอย่างไร การเพิ่มขึ้นหรือลดลงมีความผิดปกติอย่างไร เกิดขึ้นในช่วงใด และเกิดจากสาเหตุใด ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 20 ล้านหุ้น โดยซื้อมาจากผู้ถูกกล่าวหาโดยชอบ ไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 4 ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นเงิน 928,365,125 บาท แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาพหลโยธิน เลขที่ 014-111300-9 ที่ คตส.อายัด โดยมีเงินฝาก 602,979 บาท 5 สตางค์ ของผู้คัดค้านที่ 4 รวมอยู่ด้วย ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ คตส.ที่ดำเนินการตรวจสอบ ไม่มีความเป็นกลาง คตส.บางคนเป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการต่อจาก คตส.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตามกฎหมายไม่มีอำนาจดำเนินการ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ 4 นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สิน ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 4 ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 404,430,300 หุ้น โดยซื้อและได้รับโอนให้มาโดยชอบ ไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 5 ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นเงิน 19,827,750,384 บาท 36 สตางค์ แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-4-64433-3 ซึ่ง คตส.อายัดโดยมีเงินฝากเดิม 1,339,684,987 บาท 22 สตางค์ รวมอยู่ด้วย ผู้คัดค้านที่ 5 นำเงินที่ได้มาดังกล่าวไปลงทุน และนำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากอื่นๆ ของบริษัท ชินคอร์ป ประกอบธุรกิจในลักษณะการเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทในเครือ ซึ่งมีผลประกอบการที่ดี จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดี ทำให้หุ้นของบริษัท ชินคอร์ป มีราคาเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการต่อจาก คตส. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจดำเนินการ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ 4 นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สิน และคดีขาดอายุความ เนื่องจากไม่ได้กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาภายในเวลา 2 ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 75 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นสามีผู้คัดค้านที่ 6 ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป 404,589,900 หุ้น ให้แก่บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด ราคาหุ้นละ 49.25 บาท เป็นเงิน 19,918,192,275 บาท รวมกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ของผู้คัดค้านที่ 6 อีก 159,600 หุ้น เป็นเงิน 7,860,300 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,926,052,575 บาท เมื่อหักค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว คงเหลือเงินสุทธิรวมท 19,872,750,384 บาท 36 สตางค์ โดยเป็นส่วนของผู้คัดค้านที 5 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2549 ผู้คัดค้านที่ 5 โอนเงินเข้าบัญชียกให้ผู้คัดค้านที่ 6 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-0-91157-9 จำนวน 40 ล้านบาท โดยมีเงินจากการขายหุ้นของผู้คัดค้านที่ 6 จำนวน 7,839,273 บาท 70 สตางค์ รวมอยู่ด้วย ผู้คัดค้านที่ 5 และ ที่ 6 ไม่ได้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป แทนผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้ถูกกล่าวหา เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวที่ คตส.อายัด เป็นของผู้คัดค้านที่ 6 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้คัดค้านที่ 5 และ ที่ 6 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ยื่นคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สิน และดำเนินการพิสูจน์ทรัพย์สินต่อ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยยังไม่มีการดำเนินการพิสูจน์ทรัพย์ให้เสร็จสิ้น เป็นการข้ามขั้นตอนตามกฎหมาย และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่พิจารณาสำนวนการสอบสวนของ คตส. รวมทั้งมีมติให้ยื่นคำร้อง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 6 ผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และ ที่ 19 ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก และสาขามีนบุรี รวม 3 บัญชี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาราชวัตร และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแฟชั่นไอแลนด์ รวม 1,000 ล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และ ที่ 19 ซึ่งประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมาย ได้รับเป็นค่าจ้างจากครอบครัวชินวัตร และครอบครัวดามาพงศ์ โดยผู้คัดค้านที่ 2 ให้ทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างคดี และปรึกษากฎหมาย รวม 5 คดี ผู้คัดค้านที่7 ที่ 8 และ ที่ 19 ไม่ทราบว่า ผู้ว่าจ้างได้เงินดังกล่าวมาจากที่ใด เป็นการได้มาโดยสุจริต และ คตส.มีมติให้เพิกถอนอายัดเงินฝากทั้ง 5 บัญชีของผู้คัดค้านทั้ง 3 แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องในส่วนนี้ ผู้คัดค้านที่ 9 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-0-70185-5 จำนวน 1,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานควาย เลขที่ 013-1-252266-4 จำนวน 1,300 ล้านบาท ที่ คตส.อายัด เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 9 ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่พิจารณาสำนวนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ.2542 มาตรา 6 และมาตรา 12 ผู้คัดค้านที่ 9 ดำเนินกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สิน โดยโต้แย้งไว้ต่อ คตส. แต่ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ การยื่นคำร้องคดีนี้เป็นการข้ามขั้นตอนการพิสูจน์ทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ คตส.กล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 เกิน 2 ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างปี 2544 - 2548 แล้ว คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรค 2 เงินฝากที่ คตส.อายัดดังกล่าว เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 เพื่อใช้จ่ายลงทุนในธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 9 ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยสุจริต ก่อนที่ คตส.จะมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชี ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 10 ยื่นคำคัดค้านว่า คตส.กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 จึงเกิน 2 ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างปี 2544 - 2548 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจดำเนินการ และการพิสูจน์ทรัพย์ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-0-71709-1 จำนวน 1,000 ล้านบาท และธนาคารธนาชาต จำกัด (มหาชน) สาขารัชดาภิเษก รวม 2 บัญชี เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นของผู้คัดค้านที่ 10 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 10 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 เพื่อใช้จ่ายลงทุนในธุรกิจ ตามวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 10 ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยสุจริต ก่อนที่ คตส.จะมีคำสั่งอายัด ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 10 ยื่นคำคัดค้านว่า คตส.กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 จึงเกิน 2 ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างปี 2544-2548 คตส.ไม่มีอำนาจกล่าวหาและไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจดำเนินการ และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เนื่องจากไม่มีคำสั่งพิสูจน์ทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นกระบวนการตามที่กฎหมายบังคับ กรณีการยื่นคำร้องคดีนี้จึงข้ามขั้นตอนกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สิน เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-0-70784-8 จำนวน 5,000 ล้านบาท ที่ คตส.อายัด เป็นของผู้คัดค้านที่ 11 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 5 ชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 11 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 ผู้คัดค้านที่ 11 ออกใบสำคัญรับเงินค่าหุ้นและออกใบหุ้น จำนวน 5,000 ล้านหุ้น ตั้งแต่หมายเลข 15000001-515000000 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 แล้ว ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกิดจากร่ำรวยผิดปกติ หรือเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 10 ยื่นคำคัดค้านว่า คตส.กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 จึงเกิน 2 ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างปี 2544 ถึงปี 2548 จึงไม่มีอำนาจกล่าวหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจดำเนินการ และการพิสูจน์ทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-432087-6 ที่ คตส.อายัดครั้งแรก 430,000,000 ล้านบาท และครั้งที่สอง 187,000,000 ล้านบาท เป็นของผู้คัดค้านที่ 12 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากผู้คัดค้านที่ 12 และได้ออกใบหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ คตส.จะสั่งอายัด การชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนทำโดยสุจริต เปิดเผย ผ่านระบบธนาคาร สามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 13 ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 6 และมาตรา 12 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนร่วมกับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 13 ได้ดำเนินการกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สินจนเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่มีคำสั่งใดในเรื่องการพิสูจน์ทรัพย์สิน การยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้ามขั้นตอนในการพิสูจน์ทรัพย์สิน คดีนี้ คตส.กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม เกินกว่า 2 ปีนับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างปี 2544 ถึงปี 2548 แล้ว คดีจึงขาดอายุความ เงินฝากบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-0-72506-0 จำนวน 130,000,000 ล้านบาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 13 จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และมีมติพิเศษให้เพิ่มทุน ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดในราคาหุ้นละ 10 บาท ผู้คัดค้านที่ 13 จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนำส่งสำหรับทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เงินของผู้คัดค้านที่ 1 และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือได้มาจากผู้กระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ขอให้ยกคำร้องและปล่อยทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 13 ผู้คัดค้านที่ 14 ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากจำนวน 132,123.60 บาท ในบัญชีธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดา-ลาดพร้าว เลขที่ 177-0-42112-9 ผู้คัดค้านที่ 14 ได้รับเป็นเงินค่าจ้างที่ปรึกษาด้านภาษีอากร กรณี คตส.ตรวจสอบการซื้อขายหุ้น เมื่อได้ให้คำปรึกษากฎหมายแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 โดยผู้คัดค้านที่ 14 ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าบริการ เข้าร่วมประชุมประจำเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2550 รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินคนละ 60,061.80 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 15 ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 6 และมาตรา 12 ผู้คัดค้านที่ 15 ได้พิสูจน์ทรัพย์สินตามกระบวนการที่บังคับใช้ก่อนมีการยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว แต่ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงข้ามขั้นตอนตามกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สิน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง คดีขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรค 2 เนื่องจากมูลเหตุที่กล่าวหาเกิดขึ้นขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างปี 2544 ถึงปี 2548 แต่ คตส.กล่าวหาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 จึงเกินกว่า 2 ปีนับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งแล้ว เงินในบัญชีธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ บัญชีเลขที่ 127-0-70189-7 จำนวน 2,000 ล้านบาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 15 โดยออกเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 10 บาท เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจของผู้คัดค้านที่ 15 ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 เงินในบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานควาย บัญชีเลขที่ 013-125220-0 จำนวน 1,000 ล้านบาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่ซื้อจากผู้คัดค้านที่ 15 ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2550 และครั้งที่ 3/2550 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ผู้คัดค้านที่ 16 ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 6 และมาตรา 12 ผู้คัดค้านที่ 16 ได้พิสูจน์ทรัพย์สินจนเสร็จสิ้นตามกระบวนการที่บังคับใช้ก่อนมีการยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว แต่ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงข้ามขั้นตอนตามกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สิน ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้อง คดีขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรค 2 เนื่องจากมูลเหตุที่กล่าวเกิดขึ้นขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี 2544 ถึงปี 2548 แต่ คตส.กล่าวหาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งแล้ว เงินในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ จำนวน 2,000 ล้านบาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้คัดค้านที่ 16 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 โดยออกเป็นหุ้นจำนวน 2,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจของผู้คัดค้านที่ 16 ตามมติครั้งที่ 1/2550 และที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2550 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ ซึ่งการชำระค่าหุ้นดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนที่ คตส.จะมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 16 ผู้คัดค้านที่ 17 ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากจำนวน 200 ล้านบาท ในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 17 ทีได้รับการบริจาคมาจากผู้คัดค้านที่ 3 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550 ตามแคชเชียร์เช็ก ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักเพชรบุรี เลขที่ 6590443 เพื่อนำไปใช้จ่ายบริจาคให้แก่เด็กผู้ยากไร้ และนักเรียนที่ดีเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงครอบครัวและองค์การกุศลอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สินจาก คตส.แล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 17 เป็นเจ้าของที่แท้จริง ได้รับบริจาคมาโดยสุจริตและตามสมควรในทางกุศล สาธารณะ โดย คตส.มีมติให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 17 ตกเป็นของแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มาตรา 246 วรรค 1 และมาตรา 247 วรรค 1 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนการสอบสวนของ คตส. และมีมติให้ผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 18 ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากในบัญชีธนาคารและแคชเชียร์เช็กรวม 10 รายการ ที่ คตส.มีคำสั่งอายัด เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 18 ซึ่งได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินได้ เนื่องจากเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับมอบสำนวนจาก คตส.แล้ว ยังไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 18 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้ามขั้นตอนในการพิสูจน์ทรัพย์สิน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 6 และมาตรา 12 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวน ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้อง และไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนร่วมกับผู้ร้อง คำร้องกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างปี 2544 ถึงปี 2548 แต่ คตส.กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งเกิน 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรค 2 คดีจึงขาดอายุความแล้ว เงินฝากในบัญชีของผู้คัดค้านจำนวน 800 ล้านบาท เกิดจากการที่ผู้คัดค้านที่ 18 ขายหุ้นเพิ่มทุน 300 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และได้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรก ในราคาหุ้นละ 2.66 บาท ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 ด้วยแคชเชียร์เช็ค 4 ฉบับ ขอให้ยกคำร้องในส่วนของผู้คัดค้านที่ 18 ผู้คัดค้านที่ 20 ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการ คตส.ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนพิสูจน์ทรัพย์จนครบถ้วนตามกฎหมายในชั้นพิสูจน์ทรัพย์ โดยผู้คัดค้านที่ 20 ได้แสดงหลักฐานพิสูจน์ความเป็นเจ้าของทรัพย์ต่อ คตส.แล้ว แต่ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังมิได้มีคำสั่งใดๆ เพื่อชี้ชัดว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่อายัดเป็นของผู้คัดค้านที่ 20 หรือไม่ และคดีนี้มีการกล่าวหาเกิน 2 ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 20 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2549 และครั้งที่ 2/2549 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ให้เพิ่มทุนอีก 1,500 ล้านบาท ผู้คัดค้านที่ 5 ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 1,200 ล้านบาท และผู้คัดค้านที่ 6 ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 300 ล้านบาท แล้วชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนร้อยละ 60 เป็นเงินรวม 900 ล้านบาท ผู้คัดค้านที่ 20 นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 20 ที่ คตส.อายัด และออกใบสำคัญรับชำระค่าหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ 5 และผู้คัดค้านที่ 6 พร้อมจดทะเบียนต่อนายทะเบียน เป็นทุนทะเบียน 4,000 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 20 ผู้คัดค้านที่ 21 ยื่นคำคัดค้านว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 6 และมาตรา 12 ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการ นอกจากนี้ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนพิสูจน์ทรัพย์จนครบถ้วนตามกฎหมาย ทั้งการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าร่ำรวยผิดปกติ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรค 2 ต้องกระทำในขณะผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพ้นจากตำแหน่งไปไม่เกิน 2 ปี แต่คดีนี้เป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการเพื่อเอื้อประโยชน์ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2544 ถึงปี 2548 เป็นเวลาเกิน 2 ปี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักรัชโยธิน ของผู้คัดค้านที่ 21 จำนวน 2,000 ล้านบาท ที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 5 ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 21 ครั้งที่ 1/2550 และครั้งที่ 2/2550 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 และวันที่ 30 มีนาคม 2550 ที่ให้เพิ่มทุนอีก 900 ล้านบาท และในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ผู้ถือหุ้นกับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2550 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 และวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 ที่ให้เพิ่มทุนอีก 2,000 ล้านบาท ผู้คัดค้านที่ 21 ออกใบสำคัญรับชำระค่าหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ 5 พร้อมจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว เงินในบัญชีดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 21 ที่ได้มาโดยสุจริตตามปกติในทางธุรกิจและเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ประกอบกับข้อกล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป แทนผู้ถูกกล่าวหา ยังขัดกับคำวินิจฉัยของ คตส.ที่ว่า รับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป จากผู้คัดค้านที่ 1 เป็นประโยชน์ที่ผู้คัดค้านที่ 5 ได้รับ และให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีได้จากผู้คัดค้านที่ 5 อีกด้วย ผู้คัดค้านที่ 22 ยื่นคำคัดค้านว่า เงินตามแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักนานาเหนือ 12 ฉบับ ทุกฉบับลงวันที่สั่งจ่ายเงินในวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 รวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่ง คตส.มีคำสั่งอายัดไว้ เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 22 ได้รับชำระหนี้จากการประกอบกิจการด้านกฎหมายโดยสุจริต โดยผู้คัดค้านที่ 2 ชำระเป็นค่าว่าจ้างให้ผู้คัดค้านที่ 22 เป็นที่ปรึกษากฎหมายและจัดหาทนายความเข้าแก้ต่างดำเนินคดีให้กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 5 และนางกาญจนา หงษ์เหิน ในคดีที่บุคคลทั้งสามถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลอาญา เกี่ยวเนื่องกับการเสียภาษี ผู้คัดค้านที่ 22 และผู้คัดค้านที่ 2 ได้ร่วมกันชี้แจงและยื่นคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินต่อ คตส.แล้ว แต่ คตส.ไม่ได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามคำร้องขอพิสูจน์สิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 22 โดยแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 22 รอฟังผล คำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แทน เนื่องจาก คตส.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มิได้แจ้งผลการพิจารณา โดยระบุว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพิกถอนคำสั่งอายัดของ คตส.ผู้คัดค้านที่ 22 และผู้คัดค้านที่ 2 มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน คตส.จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดทร้พย์สินของผู้คัดค้านที่ 22 ทั้งเงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 ใช้ซื้อแคชเชียร์เช็ค 12 ฉบับ เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้มาโดยถูกต้องจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป และนำมาชำระค่าบริการทางกฎหมาย โดยไม่มีพฤติการณ์ยักย้ายเงินตามที่ คตส.กล่าวหา

ที่มา : โดยทีมงาน “Breaking News” ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028154

ไม่มีความคิดเห็น: