วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ให้เงินมากาเบอร์อื่น เป็นความคิดที่ถูกหรือผิด

วันนี้วันเสาร์ที่ 25 ก.ย.2553  ซึ่งพรุ่งนี้ (26 ก.ย.2553) จะเป็นวันเลือกตั้งของท้องถิ่นเทศบาลเมืองราชบุรี โดยในครั้งนี้มีผู้สมัครเป็นนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ถึง 5 คน (เลือกตั้งรวมทุกเขต) เลือกได้ 1 คน  และมีกลุ่มการเมืองของผู้สมัครนายกฯ สมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรี (สท.) ถึง 3 กลุ่ม แบ่งการเลือกตั้ง ออกเป็น 3 เขตเลือกได้เขตละ 6 คน

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี มีจำนวน 26,621 คน
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สท.ในเขต 1  จำนวน 9,159 คน
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สท.ในเขต 2 จำนวน 8,704 คน
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สท.ในเขต 3  จำนวน 8,758 คน

มีกระแสข่าวมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.53 แล้วว่ามีการแจกเงินซื้อเสียงให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่หัวละ 1,000 บาท และขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงวันนี้แล้ว มีข่าวถึง 1,500-2,000 บาท ซึ่งก็ไม่มีใครทราบและยืนยันได้ว่าเท่าไหร่กันแน่ แต่ก็มีหัวคะแนนของแต่ละกลุ่ม จดรายชื่อไปตั้งนานแล้ว

สมมติว่ามีการจ่ายเงินซื้อสิทธิ์จริงๆ โดยมีข้อแม้ว่าต้องเลือกนายกและ สท.ในกลุ่มแบบยกทีม สมมติว่าจ่ายหัวละ 1,000 บาท  ซึ่งอย่างน้อยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี แต่ละคนต้องมีคะแนนขั้นต่ำ 5,000 คะแนนถึงจะเป็นผู้ชนะ  ลองคูณกันดูนะครับว่าเป็นเงินเท่าใด

5,000 คน X 1,000 บาท เป็นเงิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาท)

เงินจำนวนนี้ คนอย่างพวกเราๆ มันเรียกว่าเยอะมากมาก แต่เพื่อแลกกับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรีในอีก 4 ปีข้างหน้านั้น เป็นเงินที่ไม่ได้มากมายอะไรเลย อย่างนี้เขาจึงเรียกว่า "ธุรกิจการเมือง"

ลงทุนด้วยเงิน ได้มาซึ่งตำแหน่ง และก็ถอนทุนคืน แล้วยังได้กำไรตามมาอีก อย่างนี้เขาเรียกว่าได้ทั้งกล่อง ได้ทั้งเงิน

สมัยนี้ ไม่มีใครกล้าลงทุนขนาดนี้ เพียงเพื่ออุดมการณ์ที่ต้องการจะทำงานให้ชาติบ้านเมืองหรอกครับ !

มันเป็นเรื่องตรรกกะง่ายๆ

มาถึงความคิดที่ว่า  "ให้เงินมา กาเบอร์อื่น" มันเป็นความคิดที่ถูกหรือผิด

ผมลองถามสมาชิกในครอบครัวของผม ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง คือให้เงินมาก็รับไว้ก่อน ให้สองเบอร์ก็รับสองเบอร์เลย แต่จะเลือกหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องกัน แต่ผมกลับเห็นว่า เป็นความคิดที่ไม่ถูก ความคิดของผมก็คือ "ไม่รับเงินตั้งแต่ต้นเลย แล้วเราจะเลือกใครก็ตามแต่ใจของเรา"  เหตุผลต่างๆ นาๆ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในครอบครัว ซึ่งต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตนเอง

หลังที่ถกเถียงกันพอสมควร ผมก็มีข้อสังเกตอยู่ว่า ความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างลูกสาว (ม.6-โรงเรียนชื่อดัง ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง) และลูกชายของผม (ปี 2-มหาวิทยาลัยชื่อดัง เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก)  ยังมีความเห็นว่า ให้เงินมาก็รับไว้ก่อน แต่จะเลือกหรือไม่เป็นคนละเรื่องกัน นั้น

หากความคิดของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นกระแสสังคมไทยในปัจจุบันได้ดี รวมทั้งสะท้อนถึงการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนของเราว่า เราสอนให้เด็กมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม และรักประชาธิปไตย จริงตามที่กล่าวไว้หรือไม่  และที่สำคัญสภาพแวดล้อมของครอบครัวและชุมชน ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เขามีความคิดเช่นนี้ และผมก็คิดว่า ที่ผ่านมา ผมก็เป็นส่วนหนึ่งที่คงจะสอนลูกไม่ถูกเช่นกัน

สรุปได้ว่า "การให้เงินมา แล้วกาเบอร์อื่น"  มันจะถูกหรือผิด ไม่มีใครตอบได้ มันขึ้นอยู่กับทัศนะและมุมมองของแต่ละคน

เขียนโดย ชาติชาย คเชนชล 25 ก.ย.2553

อ่านเพิ่มเติม : เลือกนายกฯและ สท.เมืองราชบุรีอย่างไรให้เมืองราชบุรีเจริญ

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

พิพิธภัณฑ์ในราชบุรี จะอยู่หรือจะไป

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2553  ผมได้ไปร่วมเสวนาเรื่อง "ความหลากหลายของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดราชบุรี"  ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี โดยมี นางพูลศรี  จีบแก้ว หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย คือ วันที่ 19 ก.ย. ของทุกปี และมี น.ส.นารีรัตน์  ปรีชาพิชคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ให้เกียรติมาร่วมงานนี้ด้วย

วันพิพิธภัณฑ์ เริ่มต้นมาจากการที่  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ที่พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่จัดตั้งแสดงสิ่งสะสมในพระองค์เอง ที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่มาของคำว่า "พิพิธภัณฑ์ "ในเวลาต่อมา เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้ง"มิวเซียม" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชนแห่งแรกขึ้น ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417 เหตุนี้รัฐบาลจึงประกาศเมื่อปี พ.ศ.2538 ให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย

การเสวนาในครั้งนี้ มี น.ส.อุษา ง้วนเพียรภาค ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีวิทยากร คือ อ.สุรินทร์ เหลือลมัย ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านจอมบึง (วาปีหร้อมประชาศึกษา) เจ้าอาวาสวัดคงคาราม ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม และนายเสถียร ตุ่นบุตรเสลา ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง ในสุดท้ายวิทยากรที่กล่าวสรุปก็คือ นายภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สำหรับผู้ร่วมเสวนาก็เป็นผู้แทนจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในที่อยู่ใน จ.ราชบุรี และผู้แทนโรงเรียน (บางแห่งที่สนใจ) จำนวนน่าจะประมาณ 50-60 คน

ผมเพิ่งทราบวันนี้เองว่า พิพิธภัณฑ์ใน จ. ราชบุรีของเรา จะมีถึง 23 แห่งเลยทีเดียว ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้
  1. พิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนบ้านจอมบึง , สำนักงานศิลปวัฒนธรรม ม.ราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง และเบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์
  2. พิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
  3. พิพิธภัณฑ์หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ พิพิธภัณฑ์อุทยานธรรมชาติวิทยา  จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง และพิพิธภัณฑ์สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
  4. พิพิธภัณฑ์วัด จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง พิพิธภัณฑ์วัดลาดบัวขาว พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านบ่อหวี พิพิธภัณฑ์ไท-ยวน ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าตีนจกราชบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม  พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน พิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม และพิพิธภัณฑ์บ่อน้ำพระพุทธมนต์
  5. พิพิธภัณฑ์เอกชน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานหุ่นขึ้ผึ้งสยาม  พิพิธภัณฑ์ชุมชนหลวงสิทธิ์  ภโวทัยพิพิธภัณฑ์ (ภูมิปัญญาชาวบ้าน)  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง และพิพิธภัณฑ์บ้านเรา
จากผลการเสวนา ทุกคนเห็นด้วยว่าพิพิธภัณฑ์ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กนักเรียน เยาวชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทุกภาคส่วนควรให้การสนับสนุนและส่งเสริม แต่ปัญหาที่พบเหมือนๆ กัน ก็คือ พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง กำลังจะไปไม่รอด เพราะขาดงบประมาณ มีเพียงพิพิธภัณฑ์ของเอกชนบางแห่ง ก็พออยู่ได้ เพราะเก็บค่าเข้าชม ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของหน่วยงานของรัฐ  วัด และสถานศึกษานั้น แทบไม่ต้องพูดถึง กำลังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่  ยิ่งหากนโยบายของรัฐบาล เจ้าอาวาส ผู้บังคับบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่เล่นด้วยแล้ว มีหวังดับสนิท

อ.สุรินทร์ เหลือลมัย วิทยากร
ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านจอมบึง
(วาปีพร้อมประชาศึกษา)
นายภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ได้ให้ข้อคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณว่า การได้มาซึ่งงบประมาณในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์นั้น อาจต้องมาจากหลายช่องทาง นอกจากงบประมาณจากหน่วยทางของราชการที่ดูแลเรื่องพิพิธภัณฑ์โดยตรงแล้ว อาจต้องหามาจากแหล่งอื่นๆ บ้าง เช่น จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล, อบต.)  จากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จากสำนักงานพระพุทธศาสนา  หรือจากงบพัฒนาของจังหวัด (ผ่านทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัด)  หรือจากมูลนิธิต่างๆ ที่สนับสนุนในเรื่องนี้อยู่

แต่ก่อนที่จะไปต่อรองหรือหามาซึ่งงบประมาณตามช่องทางต่างๆ  นั้น ชาวพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายน่าจะจัดตั้งกันเป็นชมรมฯ ขึ้นมาเสียก่อนเพื่อจะได้มีพลัง อย่างที่หลายๆ จังหวัดเริ่มจัดตั้งแล้ว  เช่น จัดตั้งชมรมพิพิธภัณฑ์จังหวัดราชบุรี เป็นต้น จัดทำระเบียบข้อบังคับให้ชัดเจนมีประธาน กรรมการ เลขา ฯลฯ ซึ่งน่าจะสามารถใช้ชมรมฯ นี้ไปต่อรองเรื่องงบประมาณจากแหล่งต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วได้

ปัญหาของพิพิธภัณฑ์อีกเรื่องคือ ไม่มีปัญญาที่จะจ้างภัณฑารักษ์โดยตรงเข้ามาดูแลงานในด้านนี้ คนที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นลักษณะจิตอาสา เป็นคนในชุมชนบ้าง เป็นแม่บ้านบ้าง หรืออาจทำงานหลักด้านอื่นๆ อยู่แล้วมาช่วย  เช่น เป็นครูสอนหนังสือ พอเวลาว่างก็มาเป็นภัณฑารักษ์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้น่าจะพอแก้ไขได้ โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดอบรมเติมองค์ความรู้ให้แก่บุคลเหล่านี้

นายภูธร ภูมะธน ได้แนะหลักการของการทำพิพิธภัณฑ์ไว้ง่ายๆ ดังนี้
  1. การเก็บสะสม รวบรวมวัตถุไว้อย่างหลากหลาย
  2. การอนุรักษ์วัตถุเหล่านั้นตามหลักสากล
  3. ศึกษาค้นคว้าวิจัยวัตถุที่เก็บมา
  4. การจัดแสดงและเผยแพร่
  5. การบริการให้การศึกษาวัตถุเหล่านั้น
  6. การรักษาวัตถุเหล่านั้นให้อยู่รอดปลอดภัยชั่วนิรันดร์กาล
น.ส.นารีรัตน์  ปรีชาพีชคุปต์ (ซ้าย)
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
นางพูลศรี  จีบแก้ว (ขวา)
หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี
ในส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า วันนี้ไม่ได้อยู่ที่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ใหม่ แต่ทำอย่างไรจะให้พิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งอยู่แล้วทั้ง 23 แห่งในราชบุรีดำรงคงอยู่ได้  ทำอย่างไร จะเปลี่ยนทัศนคติของพิพิธภัณฑ์ที่มีแต่ของเก่าเก่า น่าเบื่อหน่าย ให้กลับกลายเป็นสถานที่อันแสนสนุก น่าเรียนรู้ 

งานพิพิธภัณฑ์ มองดูเผินๆ แล้ว เหมือนเป็นงานอดิเรกของผู้ใหญ่ที่ชอบสะสมของเก่า แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นงานที่น่ายกย่องชื่นชม เป็นงานที่ช่วยเติมความสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนและชาติพันธ์ สะท้อนวิถีการดำเนินชีวิตของเผ่าพันธ์มนุษย์ที่ผ่านมา เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีที่จะดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต

วันนี้ นักพิพิธภัณฑ์ เสมือนผู้ที่ปิดทองหลังองค์พระ  ไม่ค่อยมีใครแลเห็น แต่ถ้าหากไม่มีใครปิดแล้ว พระก็ไม่มีวันงามทั้งองค์ได้เลย... 

ขอให้สู้ต่อไป "นักพิพิธภัณฑ์" วันหนึ่งคงจะมีคนเข้าใจ และหันมามองพวกท่านบ้าง...    

เขียนโดย จุฑาคเชน 20 ก.ย.2553

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 21 ฉบับที่ 377 ประจำเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2553 หน้า 3

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

หลักการ 90/10

โดย : สตีเฟน โควีย์ ( Stephen Covey)
การค้นพบหลักการ  90/10 มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณให้ดีขึ้น (หรืออย่างน้อยที่สุด จะเปลี่ยนวิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์บางอย่าง)

หลักการนี้คืออะไร ? เป็นเรื่องง่ายๆ คือ 10% ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ส่วนอีก 90% ที่เหลือนั้นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของคุณ ในการตอบสนองกริยานั้น

ประเด็นของเรื่องนี้ คือ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและอยู่เหนือความคาดหมายของเราเพียง  10% เท่านั้น เช่น
  • เราไม่สามารถห้ามรถยนต์ไม่ให้เสีย
  • เราไม่สามารถรู้ได้ว่า เครื่องบินจะมาช้ากว่ากำหนดจนทำให้กำหนดการเราคลาดเคลื่อนไป
  • เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะที่เราขับรถถูกช่องจราจร จะมีรถคันอื่นขับปาดหน้า
เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ 10 % นี้ที่เกิดกับเรา แต่อีก 90 % ที่เหลือนั้น เราสามารถกำหนดได้

ทำอย่างไร? “โดยการตอบสนองของคุณ”

คุณไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่คุณสามารถควบคุมปฏิกิริยาของคุณต่อเหตุการณ์เหล่านั้น คุณสามารถเลือกวิธีการตอบสนองได้ ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ 

สมมติว่า ขณะที่กำลังกินข้าวเช้ากับครอบครัว  ลูกสาวของคุณ ทำกาแฟหกรดเสื้อของคุณ  เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุที่ควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งต่อไปที่จะเกิดขึ้น อยู่กับการกระทำต่อไปของคุณ

คุณอาจจะโกรธ หลังจากนั้นก็ดุด่าว่ากล่าวลููกสาวคุุณอย่างรุนแรง จนกระทั่งลูกสาวคุณร้องไห้  หลังจากที่ดุลูกสาวเสร็จ คุณก็หันไปต่อว่าภรรยา ที่วางถ้วยกาแฟ ใกล้ขอบโต๊ะมากไป

เหตุการณ์ต่อมาที่เกิด คือ มีการโต้เถียงกันระหว่างคุณกับ ภรรยา คุณเดินปึงปังขึ้นไปข้างบนห้องเพื่อเปลี่ยนเสื้อข้างบน เมื่อกลับลงมาข้างล่าง ลูกสาวคุณยังร้องไห้ไม่หยุด และ ยังไม่ได้กินอาหารเช้า จึงทำให้ไปรถโรงเรียนไม่ทัน ภรรยาก็ต้องรีบไปทำงานทันที  คุณจึงต้องรีบขับรถไปส่งลูกสาวที่โรงเรียน

เนื่องจากคุณสาย คุณต้องขับรถเร็วกว่าที่กฏหมายกำหนด สิ่งที่ตามมาคือ คุณโดนตำรวจเรียก เพื่อจ่ายค่าปรับ  เมื่อรถถึงโรงเรียน ลูกสาวคุณก็ต้องรีบไปโรงเรียนโดยไม่ได้ร่ำลา ส่วนตัวคุณเองก็ไปถึงที่ทำงานสาย 20 นาที และยิ่งไปกว่านั้น คุณดันลืมเอากระเป๋าทำงานไว้ที่บ้าน  เป็นยังไงบ้างวันนี้ทั้งวันดูเป็นวันที่เลวร้าย สถานการณ์มันแย่ลงเรื่อยๆ จนทำให้รู้สึกอยากกลับบ้าน

แต่เมื่อคุณกลับมาถึงบ้าน คุณรู้สึกได้ถึงความหมางเมินจากลูกสาวและภรรยาของคุณ

ทำไม? สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะการตอบสนองของคุณตอนเช้า อะไรเป็นสาเหตุของวันที่เลวร้ายวันนี้
  1. เป็นเพราะกาแฟหก
  2. เป็นเพราะลูกสาวคุณทำกาแฟหก
  3. เป็นเพราะคุณโดนตำรวจจับ
  4. เป็นเพราะตัวเองนั่นแหละ ที่เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ทั้งหมด
คำตอบคือข้อ "4"

การที่กาแฟหก คุณไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปฏิกิริยาภายใน 5 วินาที ที่คุณทำหลังจากกาแฟหกใส่ คุณสามารถควบคุมได้

เหตุการณ์นี้ คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น
กาแฟหก รดตัวคุณ คุณเข้าไปปลอบลูกสาวคุณ "ไม่เป็นไรลูก ต่อไปประวังมากกว่านี้ก็แล้วกัน” หลังจากนั้น คุณหยิบผ้าเช็ดตัว และเปลี่ยนเสื้อของคุณ คุณหยิบกระเป๋าทำงาน และเมื่อคุณลงมาก็พบว่า ลูกสาวคุณกำลังขึ้นรถโรงเรียน เธอหันมาโบกมือให้ ตัวคุณเองถึงเวลาก่อนที่ทำงาน 5 นาที มีเวลาคุยเล่นกับเพื่อนร่วมงาน


อะไรที่แตกต่าง ? และนี่คือวิธีการประยุกต์ใช้หลักการ 90/10 นี้

"ถ้ามีใครกล่าวร้ายต่อคุณ อย่าไปสนใจมัน ให้ทำตัวเหมือนน้ำบนแผ่นแก้ว อย่าให้คำว่าร้ายต่างๆมาทำร้ายคุณได้"

การตอบสนองที่เหมาะสมจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายคุณ  การตอบสนองที่ผิดพลาด เป็นสาเหตุให้คุณเสียเพื่อน ถูกไล่ออก หรือเกิดความเครียดได้

ทั้ง 2 สถานการณ์ เริ่มต้นเหมือนกันแต่จบไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง 

เพราะอะไร?  เพราะการตอบสนองของคุณเองถึงแม้ว่าคุณควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 10% ของชีวิตคุณไม่ได้  แต่ 90 % ที่เหลือคุณควบคุมได้

คุณทำตัวยังไงเมื่อโดนรถคันอื่นปาดหน้า คุณอาจจะอารมณ์เสีย จนกระทั่งทุบพวงมาลัย (เพื่อน เคยทุบจนพวงมาลัยหลุด) คุณอาจจะอารมณ์เสียจนกระทั่งความดันขึ้น บางคนอาจจะขับรถไปจี้คันที่ทำให้คุณเกิดปัญหา จนคุณคิดไปว่า ไม่มีใครสนใจ หรอกว่า คุณจะไปสายประมาณ 10 นาที

นึกถึงหลักการ 90/10 อย่าไปสนใจรถคันนั้น คุณอาจถูกให้ออกจากงาน เหตุการณ์นี้ทำให้ต้องเครียด และคิดมาก มันไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น จะดีกว่าไหมถ้าเอาเวลานั้นมาคิดหางานใหม่

เครื่องบินมาช้ากว่าที่กำหนด ซึ่งส่งผลกระทบกับตารางงานของคุณทำไมคุณต้องไปหงุดหงิดกับพนักงานต้อนรับ เค้าไม่สามารถ ควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ใช้เวลานี้ ทำความรู้จักกับผู้โดยสารคนอื่นแทนที่จะมัวเคร่งเครียดซึ่งมีแต่ทำให้เหตุการณ์ต่างๆมันแย่ลง

ตอนนี้คุณรู้จัก หลักการ 90/10  ปรับหลักการนี้ เอาไปใช้ และคุณจะพบผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์

คุณไม่เสียหายอะไรที่จะลองมัน หลักการ 90/10 นี้ เป็นประโยชน์ น้อยคนนักที่จะรู้จักและนำเอาหลักการนี้มาใช้  ผลลัพธ์ที่ได้ คุณจะเห็นผลลัพธ์ด้วยตัวคุณเอง


ผู้คนเป็นล้านคนรู้สึกเจ็บปวดจากปัญหาต่างๆ  ความทุกข์, ความเครียดรุนแรง และปัญหาต่างๆ
เพียงแค่เราเข้าใจและนำเอาหลักการ 90/10 นี้มาใช้มันสามารถเปลี่ยนวิถี ชีวิตของคุณได้แน่ !

แน่นอนว่า ทุกสิ่งที่คุณพูด,ให้,ทำ หรือแม้แต่คิด เหมือนบูมเมอแรงมันจะย้อนกลับมาหาคุณ
ถ้าคุณต้องการที่จะรับ คุณต้องเริ่มต้นด้วยการให้ บางทีเราอาจจะไม่ได้อะไรเลย แต่อย่างน้อย หัวใจเราก็เต็มไปด้วยความสุข

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ภาพทหารหญิงสวยสวย

วันนี้ มีอดีตเพื่อนร่วมงานได้ส่งอีเมลล์ภาพถ่ายทหารหญิงของประเทศต่างๆ มาให้   ดูแล้วก็เพลินและยังได้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องแบบของชาติต่างๆ ด้วย และบางทีหากลองดูแบบพินิจพิเคราะห์ อาจทราบได้ถึงวิถีการดำเนินชีวิตของทหารหญิงของชาติเหล่านั้นด้วย  รู้สึกเสียดายหากอ่านแล้วทิ้งไปเลยเอาภาพมาลงไว้ในนี้...ไว้ดูเพลินๆ  (หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไม? ไม่มีทหารหญิงไทย จริงๆ แล้วในเมลล์ที่เขาส่งมา มีทหารหญิงไทยด้วย แต่ปรากฏว่าภาพทหารหญิงไทยที่ส่งมานั้นไม่สวยเลย ผมจึงไม่ได้เอาภาพมาลง)

Algeria
Australia
Austria

Bharain
Belgium
Brazil
Canada
Chile
China
Colombia
Czech Republic
Finland
France
Greece
Holland
India
Indonesia
Iran
Israel
Italy
Japan
Kenya
Serbia
Mexico
Nepal
New Zealand
Norway
Pakistan
Peru
Poland
Poland
Portugal
Romania
Russia
Serbia
South Korea
Spain
Sweden
Switzerland
Taiwan
Turkey
Ukraine
USA
Vietnam

ขอขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายทุกคน (ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง) รวมทั้งคนที่ค้นคว้าข้อมูลด้วย
และหากใครมีภาพทหารหญิงไทยสวยสวย ส่งมาแข่งขันได้นะครับ เดี๋ยวจะนำลงบล็อกนี้ไว้ให้