วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หากจะพัฒนาต่อไป..อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด

ผู้เขียนอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า "คำบางคำ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป (ในทางที่ดี) "เขียนโดย คุณนาน สินธูสวัสดิ์ เมื่อปี พ.ศ.2546 โดยในตอนที่ 99 ได้เขียนบทความเกี่ยวกับความคิด 7 อย่างซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร "อาร์โคนอท" ของเมืองซานฟรานซิสโกหลายครั้ง ผู้เขียนอ่านแล้วจึงอยากนำมาเสนอในเชิงประยุกต์กับวิธีคิดที่พวกเราคนไทยกำลังคิดกันอยู่ เผื่อว่ามันจะมีอะไรพัฒนาในทางที่ดีขึ้นมาบ้าง

ประเทศไทยไม่สามารถจะเจริญรุ่งเรืองได้
หากประชาชนไม่รู้จักความประหยัด

วันนี้รัฐบาล นักการเมือง พยายามสร้างให้ประชาชนฟุ่มเฟือย ซื้อรถ ซื้อบ้าน ให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ สร้างหนี้ให้ประชาชนทุกรูปแบบ ประชาชนหลงไหลในวัตถุนิยม บริโภคนิยม สวนทางกับการมีชีวิตแบบพอเพียงโดยสิ้นเชิง ประชาชน "ใช้เงินมากกว่าที่หาเงินได้" กู้ยืมทุกอย่างที่มีให้กู้ หากประชาชนเป็นอย่างนี้ไม่รู้จักการประหยัด และอดออม ประเทศไทยก็ไม่มีวันจะเจริญทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้วเสียที ก็คงเป็นได้แค่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างนี้อยู่ร่ำไป

เราไม่สามารถทำให้ประชาชนที่อ่อนแอเข้มแข็งขึ้น
โดยการทำให้รัฐบาลและนักการเมืองผู้เข้มแข็งอ่อนแอลง

รัฐบาล และนักการเมือง ในปัจุบันดูเหมือนจะเข้มแข็ง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ประชาชนของเราอ่อนแอลงต่างหาก ดังนั้น เราจะต้องสร้างประชาชนของเราให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อได้ใช้ความรู้ ความสามารถต่อสู้กับพวกรัฐบาลและนักการเมือง ที่ทุจริต โกงกิน คอรัปชั่น มากกว่าที่เราจะทำให้บรรดานักการเมืองอ่อนแอลง  วันนี้รัฐบาลและนักการเมืองพยายามทำให้ประชาชนอ่อนแอลงโดยการมอมเมาด้วยนโยบายประชานิยม

เราไม่สามารถช่วยคนตัวเล็กๆได้
โดยการดึงคนตัวใหญ่ๆ ให้ตกต่ำลง
หากประชาชนของเราตัวเล็กลงเรื่อยๆ  เราคงไม่ได้ไปทำให้คนตัวใหญ่กลับตัวเล็กลงมาเท่าประชาชน แต่เราจะต้องสร้างประชาชนของเราให้เจริญเติบโตมีสุขภาพแข็งแรงเป็นคนตัวใหญ่ขึ้น พัฒนาให้ทัดเทียมกับคนตัวใหญ่ให้ได้

เราไม่สามารถช่วยคนยากจน
โดยการทำลายคนรวย
ประชาชนของเรายากจนลง แต่นักการเมือง และนายทุนกลับร่ำรวยขึ้น  เราจึงไม่สามารถทำให้คนร่ำรวยเหล่านี้ยากจนลง เพราะมันเป็นไปไม่ได้  ดังนั้นเราจึงต้องสร้างประชาชนของเราให้ร่ำรวยขึ้นต่างหาก แต่วันนี้นักการเมือง กำลังพยายามสร้างนโยบายให้ประชาชนยากจนลงไปเรื่อยๆ  

เราไม่สามารถจะยกระดับลูกจ้าง
โดยการดึงนายจ้างลงมา
ประชาชนของเรา ส่วนใหญ่ใช้แรงงาน เป็นพนักงาน ลูกจ้าง ในบริษัท ห้างสรรพสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ของชาวต่างชาติ  นอกจากนั้นการศึกษาของเราส่วนใหญ่ยังสอนคนให้จบออกมาเป็นลูกจ้าง มากกว่าเป็นเจ้าของธุรกิจ  ดังนั้นการจะยกระดับลูกจ้างแรงงาน  จึงไม่ใช่การไปทำลายนายจ้าง ทำให้นายจ้างให้แย่ลง  แต่ในทางกลับกัน เราต้องสอนและพัฒนาประชาชนของเราจากลูกจ้างให้ยกระดับขึ้นเป็นนายจ้างให้ได้ เพื่อแข่งขันต่อสู้กับเขามากกว่า

รัฐบาลไม่สามารถจะช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดไป
ตราบใดที่รัฐบาลไม่สอนให้ประชาชนทำด้วยตัวเอง 
รัฐบาลและนักการเมืองสอนให้ประชาชนเป็นผู้แบมือขอ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมในสมัยนี้ รัฐบาลไม่สอนให้ประชาชนสามารถยืนอยู่บนขาและลำแข็งของตนเอง  รัฐบาลให้ปลาแก่ประชาชนกินไปวันๆ แทนที่จะสอนวิธีหาปลาให้ประชาชน ดังนั้นเราจึงต้องสอนให้ประชาชนของเรา คิดเป็น ทำเป็น มีรายได้ เลี้ยงตัวบนพื้นฐานวิถีชีวิตที่พอเพียง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็แบมือขอ โยนเป็นภาระและหน้าที่ของรัฐบาลไปเสียทั้งหมด

เราไม่สามารถจะสร้างความกล้าหาญขึ้นมาได้
โดยขจัดความเป็นตัวของตัวเองออกไป
ประชาชนคนไทยในวันนี้  ส่วนใหญ่ขาดความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความจริง  ต่อสู้กับอิทธิพลมืด ต่อสู้กับการทุจริต โกงกิน คอรัปชั่น ของข้าราชการและนักการเมือง ต่อสู้กับขบวนการล้มล้างสถาบันกษัตริย์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนคนไทยกำลังขจัดความเป็นคนไทยออกไปจากตัวเอง
  • คนไทยเคยกล้าหาญ แต่วันนี้ไม่ใช่
  • คนไทยเคยเอื้ออาทร โอบอ้อมอารี แต่วันนี้กลายเป็นนักฉวยโอกาส
  • คนไทยเคยยิ้มแย้มแจ่มใส แต่วันนี้กลายเป็นคนหน้างอ คอยจะทะเลาะกันเสมอ
  • คนไทยเคยมีความรัก ความสามัคคีกัน  แต่วันนี้กลับแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นสี เป็นกลุ่ม
  • คนไทยเคยรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งชีวิต แต่วันนี้กลับรักนักการเมือง
  • ฯลฯ

ไม่ว่าอย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่า
หากจะพัฒนากันต่อไป เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่
..ลองคิดกันดูนะครับ..


***************************
จุฑาคเชน : 4 ธ.ค.2554

ไม่มีความคิดเห็น: