วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีการลดต้นทุนในการซื้อเสียงของนายทุนพรรคการเมือง

กกต.อบจ.ราชบุรี กำหนดแบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี (ส.อบจ.ราชบุรี) ออกเป็น 30 เขตเลือกตั้ง โดยแต่ละเขตเลือกตั้งเลือก ส.อบจ.ราชบุรี ได้ 1 คน กำหนดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 5 ส.ค.2555 ผมได้ดูจำนวนของผู้สมัครที่ขันอาสาประชาชนชาว จ.ราชบุรี เข้าไปเป็นปากเสียงในแต่ละเขตแล้วรู้สึกแปลกๆ เลยลองมาสรุปวิเคราะห์อย่างง่ายๆ ดูว่า "มันจะได้ความคิดและมองเห็นอะไรขึ้นมาบ้าง" ลองดูกันกันนะครับ (บทความนี้อาจจะต้องใช้ตัวเลขมายกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ขอให้ผู้อ่านค่อยๆ คิดตามไปนะครับ อย่าเพิ่งเบื่อ) 

ผู้สมัคร 1 คน ใน 1 เขต  จำนวน 9 เขต คิดเป็นร้อยละ 30 


  • อ.เมือง 4 เขตจาก 7 เขต 
  • อ.บ้านโป่ง 1 เขตจาก 6 เขต 
  • อ.ดำเนิน 1 เขตจาก 3 เขต 
  • อ.บางแพ 1 เขตจาก 2 เขต 
  • อ.วัดเพลง 1 เขตจาก 1 เขต 
  • อ.บ้านคา 1 เขตจาก 1 เขต 


ผู้สมัคร 2 คน ใน 1 เขต จำนวน 18 เขต ร้อยละ 60 
  • อ.เมือง 3 เขตจาก 7 เขต 
  • อ.บ้านโป่ง 4 เขตจาก 6 เขต 
  • อ.โพธาราม 3 เขตจาก 5 เขต 
  • อ.ดำเนินสะดวก 2 เขตจาก 3 เขต 
  • อ.ปากท่อ 2 เขตจาก 2 เขต 
  • อ.จอมบึง 2 เขตจาก 2 เขต 
  • อ.บางแพ 1 เขตจาก 2 เขต 
  • อ.สวนผึ้ง 1 เขตจาก 1 เขต 


ผู้สมัคร 3 คน ใน 1 เขต จำนวน 3 เขต ร้อยละ 10 
  • อ.บ้านโป่ง 1 เขตจาก 6 เขต 
  • อ.โพธาราม 2 เขตจาก 5 เขต 


ลดต้นทุนซื้อเสียงบนความขาดเขลาของประชาชน 
จากการดูผลสรุปผู้สมัครที่กล่าวมา อาจส่อเค้าให้เห็นเรื่องสำคัญ คือ วิธีการลงทุนของนายทุนพรรคการเมืองที่ชาญฉลาด คือ ต้องการประหยัดเงินลงทุนซื้อเสียงบนฐานความขาดเขลาของประชาชน อ.เมืองราชบุรี ดูเหมือนจะมีการลดจำนวนเงินลงทุนซื้อเสียงมากที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้ว อ.เมืองราชบุรี น่าจะเป็นอำเภอที่เป็นตัวอย่างของประชาชนที่มีความรู้ เพราะเปรียบเสมือนเมืองหลวงของ จ.ราชบุรี แต่กลับสู้ อ.บ้านโป่ง และ อ.โพธาราม ไม่ได้ เพราะนายทุนพรรคการเมืองต้องเสี่ยงเรื่องการลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ที่แยบยลขึ้นกว่า อ.เมืองราชบุรี 

สมมติฐานของผู้เขียน 
  • ประชาชนใน 1 เขตเลือกตั้งมีผู้มีสิทธิ์ 20,000 คน 
  • การซื้อเสียงขั้นต่ำของนายทุนพรรคการเมือง เสียงละ 1,000 บาท 
  • การเลือกตั้งมีการซื้อสิทธิ์และขายเสียงจริง 
  • ประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะเลือกเบอร์ที่จ่ายเงินซื้อเสียงมากที่สุด 
  • เสียงที่ได้รับการเลือกตั้งไม่นับรวมประชาชนที่มีอุดมการณ์ 

กรณีผู้สมัคร 1 คน 1 เขต 
ก็แค่ต่อสู้ให้ได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การสมัครคนเดียวจึงทำให้การจ่ายเงินซื้อเสียงน้อยลง จ่ายเงินแค่ 2,000 เสียง (ซึ่งเกินร้อยละ 10 แล้ว) เสียงละ 1,000 บาท ก็เป็นเงิน 2,000,000 บาท ดีกว่ามีคู่แข่งซึ่งหากสมัคร 2 คนต้องจ่ายขั้นต่ำ 10,000 เสียงๆ ละ 1,000 บาท เป็นเงินถึง 10,000,000 บาท ถึงแม้หากจะมีผู้สมัคร 3 คน เพื่อความแน่ใจก็ยังต้องจ่ายเงินซื้อเสียงอย่างน้อย 10,000,000 บาทเช่นกัน แล้วนายทุนพรรคการเมืองจะเลือกแบบไหน (ลอบบี้ครับ..คนเดียวพอ จ้างคนไม่ต้องลงแข่ง) 

กรณีผู้สมัคร 2 คน ใน 1 เขต อาจแยกเป็น 2 กรณี 
  • กรณีที่ 1 ถ้าเกิดการจ้างลงเพื่อเป็นคู่แข่ง เพื่อหลีกเหลี่ยงร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ไม่ต้องคำนึงถึง 2,000 คะแนน อาจจะจ่ายเงินซื้อเสียงเพียง 1,000 เสียงๆ ละ 1,000 บาทก็ใช้เงินแค่ 1,000,000 บาทเท่านั้นเอง เพราะคู่แข่งที่จ้างลงนั้นเป็นแค่ไม้ประดับ อาจได้ไม่ถึง 100 เสียงด้วยซ้ำไป 
  • กรณีที่ 2 ถ้าเกิดการแข่งขันกันจริงๆ เป็นคนละขั้วสัมปทานอำนาจ อย่างน้อยแต่ละฝ่ายต้องจ่ายขั้นต่ำถึง ฝ่ายละ 10,000 เสียงๆละ 1,000 บาท ก็เป็นเงินฝ่ายละ 10,000,000 บาท หากต้องอัดฉีดเพิ่มคงต้องจ่ายเงินถึง 15,000,000 บาท (เสียงละ 1,500 บาท) 

กรณีผู้สมัคร 3 คน ใน 1 เขต อาจแยกเป็น 3 กรณี
  • กรณีที่ 1 หากเป็นการจ้างลงทั้ง 2 เบอร์ ผู้ชนะอาจใช้เงินซื้อเสียงขั้นต่ำแค่ 500 เสียงๆละ 1,000 บาท เป็นเงิน 500,000 บาท อีกเบอร์ซื้อเสียง 300 เสียงๆละ 400 บาทเป็นเงิน 120,000 บาท อีกเบอร์ซื้อเสียงๆละ 300 เสียงๆละ 300 บาทเป็นเงิน 90,000 บาท (เพื่อให้ดูเหมือนการแข่งขัน) นายทุนพรรคการเมืองรวมจ่ายซื้อเสียงแค่ 710,000 บาท 
  • กรณีที่ 2 จ้างลง 1 เบอร์ อีก 1 เบอร์ เป็นสัมปทานอำนาจที่สู้กัน ก็จะจ่ายเงินซื้อเสียงขั้นต่ำถึง 10,000,000 บาท 
  • กรณีแข่งขันกันอย่างจริงจังทั้ง 3 เบอร์ เพื่อความมั่นใจนายทุนพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินลงทุนซื้อเสียงถึง 10,000,000 บาท (10,000 เสียงๆละ1,000 บาท) เช่นกัน แต่หากต้องการอัดฉีดเพื่อให้ชนะคู่แข่งอย่างมั่นใจ อาจต้องเพิ่มเงินซื้อเสียงเป็น 2 เท่า ก็คือ 20,000,000 บาทเลยทีเดียว 
นี่คือวิธีการสัมปทานอำนาจของนายทุนพรรคการเมือง โดยใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนในการซื้อเสียงเลือกตั้ง ท่ามกลางความคิดที่ขาดเขลาของประชาชน ที่เลือกตั้งผู้แทนตามเงินขายเสียงที่ได้รับ 

เลือกตั้งคือประชาธิปไตย จริงหรือ? 

ที่ผมเขียนนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดมาก จับผิด หรือเพ้อฝันไปเองนะครับ แต่มันเป็นเรื่องจริง เขาคุยกันเรื่องนี้จริงๆ เป็นความคิดของนายทุนพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจริง เขาคิดแยบยลกว่านี้อีกมากนักแต่ผมอธิบายไม่หมด  ยังมีเรื่องการซื้อขายตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.อบจ.ราชบุรี กันอีก...นี่แหละครับ หนทางเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง


(ขออภัย สำหรับผู้สมัคร  ส.อบจ.ราชบุรี บางท่าน ที่มีอุดมการณ์  และไม่ได้อยู่ในกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว) 


ไม่มีความคิดเห็น: