วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

ถนนที่ไม่ได้เลือก (The Road not taken)

ผมได้เห็นนโยบายใหม่ที่จะมีการเสนอให้เริ่มต้นใช้ในปีการศึกษา 2560 คือ ส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยให้เป็นคนละ 1 ชนิด ภายใน 5 ปี โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เป็นผู้เสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยให้คงอยู่ และเป็นการฝึกสมาธิ ให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์


วิธีคิดดังกล่าวข้างต้น ผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอันใด เพียงแต่สงสารเด็กนักเรียนไทยที่ต้องถูกบังคับให้ทำ โดยความคิดของผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาจไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการจัดการศึกษาที่แท้จริง  ปัจจุบันนโยบาย "โลกสวยทางการศึกษา" หลายเรื่องที่ถูกกำหนดมาให้เด็กและครูต้องปฏิบัติ เช่น STEM ศึกษา การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การเรียนภาษาอังกฤษวันละ 1 ชม. การเรียนรู้แนวประชารัฐ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างภาระอันหนักอึ้งให้แก่เด็กๆ ของเรา รวมทั้งครูที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนอีกด้วย 

นโยบายดี แต่ควรเปลี่ยนวิธีทำ
ตามทฤษฎีพหุปัญญาแล้ว มนุษย์มีความสามารถทางปัญญาอยู่ 8 ด้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีความชอบและความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เด็กหลายคนอาจชอบภาษา หลายคนอาจชอบคณิตศาสตร์ หลายคนอาจชอบดนตรี และหลายคนอาจชอบด้านอื่นๆ 

ปัญหาระบบการศึกษาของเรา คือ สนใจความอัจฉริยภาพของเด็กเพียงไม่กี่ด้าน  ออกแบบมาเพื่อสอนเด็กบางคนเท่านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนเด็กทุกคน

ดูแต่การสอบ O-net ที่รัฐจัดให้มีการสอบทุกปี มันแค่เป็นตัวชี้วัดพหุปัญญาหรืออัจฉริยภาพของเด็กบางคนและบางด้านเท่านั้น มันไม่สามารถวัดอัจฉริภาพของเด็กในแต่ละด้านได้ทุกคน  การสอบวัดมาตรฐานที่รัฐจัดให้มีขึ้นกลับทำให้เด็กๆ ของเราต้องเครียด  ผู้ปกครองก็เครียด ผู้บริหารโรงเรียนก็เครียด โรงเรียนหลายแห่งพยายาม "สอนให้เด็กสอบ" มากกว่าจะสอน "ให้เด็กค้นหาตัวเองให้พบและเรียนรู้ตามที่ตัวเองถนัด" 


ที่มาของภาพ http://www.mindecodetd.com/multi-th/index.php




นโยบายส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยให้เป็นคนละ 1 ชนิด ภายใน 5 ปี นั้น
ดีเชิงนโยบาย แต่ก็ไม่ควรที่จะบังคับให้เด็กทุกคนต้องทำ   
การเล่นดนตรีไทย  จึงควรจะเป็นทางเลือกมากกว่า  

ถนนที่ไม่ได้เลือก (The Road not taken)
ปัจจุบันการจัดการศึกษาของไทยมีลักษณะของถนนที่เด็กไม่ได้เลือกเอง ผู้กุมนโยบายด้านการศึกษามักชอบยัดเหยียดให้แก่เด็กๆ ว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ นู้น..นี่..นั่น ทำให้การเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อ อันที่จริงพวกเขาควรมีเสรีภาพในการเลือกมากกว่านี้ การศึกษาต้องพยายามดึงเอาความเป็นอัจฉริยะของเด็กแต่ละคนออกมาให้ได้ และต่อยอด หาทางส่งเสริมเขาในด้านนั้นๆ 

เมื่อ 15 ปีที่แล้วผมอ่านหนังสือเรื่อง "พ่อรวยสอนลูก" ที่เขียนโดยโรเบิร์ต คิโยซากิ มีคำพูดน่าคิดเกี่ยวกับการศึกษาของผู้มีชื่อเสียง ดังนี้

วินสตัน เชอร์ชิล 
"ผมพร้อมที่จะเรียนเสมอ แต่ผมไม่ชอบถูกสอน"

จอห์น อัพไดค์
"เมื่อพ่อแม่ทั้งหลายพบว่าเด็กเป็นภาระอันหนักอึ้ง เขาจึงส่งเด็กไปอยู่ในคุกที่เรียกว่าโรงเรียน และใช้การศึกษาเป็นเครื่องทรมาน"   

นอร์มัน ดักลาส
"การศึกษา คือ โรงงานผลิตเสียงสะท้อนที่ควบคุมโดยรัฐ"

เอช. แอล. แม็คเค็น
"ชีวิตในโรงเรียน เป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขที่สุด"

กาลิเลโอ
"ไม่มีใครสอนใครได้ อย่างมากที่ทำได้คือ ช่วยให้เขาค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง"

มาร์ค ทเวน
"ฉันไม่เคยให้โรงเรียนเข้ามายุ่งกับการศึกษาของฉัน"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
"การศึกษามีมากเกินไป โดยเฉพาะในโรงเรียนอเมริกัน"

นอกจากนั้น โรเบิร์ตฯ ยังกล่าวถึงทัศนะของระบบการศึกษาในอเมริกาสมัยนั้นไว้ว่า เป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับความเปลี่ยนแปลง มันถูกออกแบบให้คงอยู่อย่างถาวร นักจัดการศึกษามักบอกว่า "ลูกคุณมีปัญหาในการเรียนรู้" มากกว่าจะบอกว่า "ระบบของเรามีปัญหาในการสอน" สอดคล้องกับคำกล่าวของท่านผู้หนึ่งจากเว็บไซต์ www.livebox.me/ajwiriyah ที่กล่าวถึงระบบการศึกษาไทย ไว้อย่างน่าคิดว่า 

"เราไม่มีทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ถ้ายังคิดว่าเด็กเราโง่ และไม่รับผิดชอบ 
ที่โง่นะ คือ ระบบการศึกษา และที่ไม่รับผิดชอบ คือ ผู้มีอำนาจ"

เพราะถนนที่เด็กๆ ไม่ได้เลือกเอง (The Road not taken) ปัจจุบันจึงเป็นปัญหาของผู้จบการศึกษาของไทย เด็กๆ หลายคนต้องตกหล่นระหว่างการเรียน และหลายคนก็สามารถตะเกียกตะกายเรียนได้ถึงปริญญาตรี ปริญญาโท แต่กลับตกงาน หรือทำงานไม่ตรงตามที่เรียน และอีกหลายคนก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ถึงเวลาที่นักจัดการศึกษาทั้งหลายของไทยต้องหันกลับมานั่งคิดกันอย่างจริงจังเสียที เพราะโลกของการศึกษาในที่ทำงาน ในห้องประชุม จากแบบวัด แบบประเมิน จากผลการสอบ และสถิติทั้งหลายที่พวกท่านรวบรวมไว้ มันแตกต่างจากสภาพความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

โลกการศึกษาไม่ได้สวยงามอย่างที่ท่านคิด 
อย่าคิดอะไรได้แว๊บๆ แล้วจะกลายเป็นนโยบายไปเสียทั้งหมด
การปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ก็เพราะ
มันเป็นไฟไหม้ฟาง มันมอดเร็ว หุ้งข้าวไม่สุกเสียที   


***********************************
ที่มาข้อมูล
  • รักครู. (2559). เตรียมดีเดย์ใหเด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยเป็น 1 ชนิดเริ่มปีการศึกษา 60. [Online]. Available :http://www.xn--12cg5gc1e7b.com/6343. [2559 กันยายน 1 ]
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก # 3 : สอนลูกให้รวย. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก # 2 : เงินสี่ด้าน. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.

ไม่มีความคิดเห็น: